กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเฝ้าติดตาม จรวด 'ลอง มาร์ช 5B' ของจีน ในสภาพควบคุมไม่ได้ เตรียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและตกสู่พื้นโลกสุดสัปดาห์นี้ หลังจีนปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศสัปดาห์ก่อน
เมื่อ 5 พ.ค.64 ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกำลังเฝ้าติดตามจรวดขนส่งขนาดใหญ่ของจีน ‘ลอง มาร์ช 5B’ (Long March 5B) ขนาดน้ำหนัก 22 ตัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในสภาพไม่สามารถควบคุมได้ เตรียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และคาดว่าจะตกสู่พื้นโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ประมาณวันที่ 8-10 พฤษภาคม 64
ไมค์ โฮเวิร์ด โฆษกประจำกองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯ แถลงว่า เจ้าหน้าที่กองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯกำลังเฝ้าติดตามจรวดลอง มาร์ช 5B ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่บริเวณใด แต่กองบัญชาการอวกาศที่ 18 จะรายงานอัปเดตตำแหน่งของจรวดลอง มาร์ช ทุกวันผ่านทางเว็บไซต์ the Space Track website
...
โฮเวิร์ดกล่าวว่า จรวดลอง มาร์ช ของจีนได้ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เมื่อวันพฤหัสฯที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา และแม้ชิ้นส่วนของจรวดส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลก แต่ด้วยขนาดของจรวดลอง มาร์ช ที่หนักถึง 22 ตัน ก็ยังทำให้เกิดความกังวลว่าซากชิ้นส่วนหากตกใส่เขตที่อยู่อาศัยของประชาชนอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม โจนาธาน แม็คโดเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ของศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า ไม่ใช่วันสิ้นโลก และไม่คิดว่าประชาชนต้องคอยเฝ้าระวัง เพราะความเสี่ยงที่ซากชิ้นส่วนจรวดจะสร้างความเสียหาย หรือตกใส่คนค่อนข้างเล็ก แต่ไม่ใช่เล็กน้อย เพราะมันอาจตกใส่คนได้ ทว่าความเสี่ยงถูกจัดว่าน้อย
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา จีนได้ปล่อยจรวดลองมาร์ช 5B เพื่อนำโมดูลอวกาศเทียนเหอ ที่พักสำหรับนักบินอวกาศ 3 คน ไปยังสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสร้างในเฟสแรก โดยที่ไม่สามารถควบคุมจรวดลอง มาร์ซ 5B ตอนกลับสู่พื้นโลกได้.