• เมื่อปี 2512 ภารกิจอพอลโล 11 ของนาซา พานักบินอวกาศ 3 คนเดินทางไปดวงจันทร์ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เหยียบดาวบริวารดวงนี้

  • ในขณะที่นักบิน 2 คนลงไปเดินบนดวงจันทร์ และได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ ไมเคิล คอลลินส์ กลับเป็นคนเดียวที่ต้องอยู่บนยานและไม่ได้รับความสนใจเท่ากับคนอื่นๆ จนถูกตั้งฉายาว่า “นักบินผู้ถูกลืม”

  • แต่คอลลินส์ไม่คิดเช่นนั้น เขารู้สึกมีส่วนร่วมในภารกิจอย่างเต็มที่ เพราะการรั้งอยู่ของเขา เป็นภารกิจสำคัญยิ่งยวดต่อการพาทุกคนเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

อพอลโล 11 เป็นชื่อภารกิจครั้งสำคัญขององค์การนาซา ซึ่งพามนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์เมื่อปี 2512 และลงไปเหยียบพื้นผิวของดาวบริวารดวงนี้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ต่อหน้าสายตาชาวโลกหลายล้านคน ที่รับชมภาพเหตุการณ์ผ่านทางโทรทัศน์

ภารกิจนี้ ส่งให้ชื่อของ นีล อาร์มสตรอง และ บัซซ์ อัลดริน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะมนุษย์ 2 คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ ขณะที่นักบินอวกาศอีกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยอย่าง ไมเคิล คอลลินส์ ต้องอยู่บนยานโคจรพลาดโอกาสจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ จนเขาถูกตั้งฉายาว่า “นักบินผู้ถูกลืม” และ “ชายผู้โดดเดี่ยว”

แต่เจ้าตัวคอลลินส์ไม่คิดเช่นนั้น เขารู้สึกมีส่วนร่วมกับนักบินอวกาศอีก 2 คนที่อยู่เบื้องล่าง และน้อยคนที่จะรู้ว่า ภารกิจที่ทำให้เขาต้องรั้งอยู่บนยานนั้น มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการพาทุกคนเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

...

ภารกิจอพอลโล 11 ก้าวเล็กๆ ของมนุษยชาติ

จรวดแซเทิร์น 5 ส่งยานอวกาศอพอลโล พร้อมกับนักบินอวกาศ 3 คนได้แก่ ผู้การ นีล อาร์มสตรอง, พันเอก เอ็ดวิน บัซซ์ อัลดริน และ พันโท ไมเคิล คอลลินส์ เดินทางออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เมื่อเวลาประมาณ 9:32 น. วันที่ 16 ก.ค. 2512 เพื่อมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์

ระหว่างทางลูกเรือถ่ายทอดสดภาพภายในยานออกโทรทัศน์ 2 ครั้ง และอีก 1 ครั้งเมื่อยานเข้าใกล้ดวงจันทร์ ก่อนในวันที่ 20 ก.ค. อาร์มสตรองกับอัลดรินจะขึ้นยานโมดูลลงจอดชื่อเล่นว่า ‘อีเกิล’ (นกอินทรี) แล้วแยกตัวจากยานบัญชาการ ‘โคลัมเบีย’ ที่คอลลินส์ควบคุมอยู่ แล้วมุ่งหน้าสู่พื้นที่ผิวของดวงจันทร์

ยานอีเกิลลงจอดบนที่ราบที่เรียกว่า ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ (Sea of Tranquility) ในเวลา 16:17 น. แต่ช่วง 2 ชั่วโมงแรก อาร์มสตรองกับอัลดรินยังคงอยู่ในยาน เพื่อตรวจสอบระบบต่างๆ ก่อนที่พวกเขาจะปรึกษากับนาซาและตัดสินใจข้ามตารางการพักผ่อน 4 ชั่วโมง เพื่อลงไปสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ทันที

และแล้วช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ก็มาถึง กล้องที่ติดไว้บนแผงควบคุมของยานอีเกิล ถ่ายทอดภาพอาร์มสตรองกำลังก้าวลงจากบันไดยานลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ไปทั่วโลกในเวลา 23:56 น. วันที่ 20 ก.ค. 2512 พร้อมกับประโยคอมตะที่ยังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ว่า “นั่นเป็นก้าวเล็กๆ สำหรับคน แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”

ไมเคิล คอลลินส์ นักบินผู้ถูกลืม

แต่ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ ไมเคิล คอลลินส์ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับพื้นผิวของดาวบริวารดวงนี้ เพราะเขามีหน้าที่ควบคุมยานโคลัมเบีย และถูกตัดขาดจากทุกการติดต่อเป็นเวลา 48 นาทีในทุก 2 ชั่วโมงที่ยานโคจรรอบดวงจันทร์

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนตั้งฉายาให้เขาว่า ‘ชายผู้ถูกลืม’ แต่นายคอลลินส์ไม่คิดเช่นนั้น เขาเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์นิตยสาร ไทม์ ว่า เขาคงเป็นคนโกหกถ้าพูดว่า เขาได้ที่นั่งที่ดีที่สุดในภารกิจอพอลโล 11 แต่เขาสามารถพูดได้เต็มปากว่า เขายินดีที่ได้รับตำแหน่งนั้น และเขาเป็นตั๋วที่จะพา นีล อาร์มสตรอง กับ บัซซ์ อัลดริน กลับบ้าน

ไมเคิล คอลลินส์ ในวัยชรา
ไมเคิล คอลลินส์ ในวัยชรา

คอลลินส์รู้ดีว่า ภารกิจอพอลโล 11 จำเป็นต้องใช้คน 3 คน และเขาต้องรับหน้าที่ที่สำคัญมากๆ ในการรับผิดชอบต่อชีวิตของเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเขากังวลกับเรื่องนี้มากถึงขั้นเขียนคู่มือว่าต้องทำอย่างไรในกรณีที่การลงจอดไม่เป็นไปตามแผน รวมทั้งว่าแผนว่า เขาจะบังคับยานโคลัมเบียลงไปรับเพื่อนอีก 2 คนอย่างไร หากยานอีเกิลบินกลับขึ้นมาไม่ได้ด้วย

“ผมแอบกลัวมาตลอด 6 เดือน ว่าจะต้องทิ้งพวกเขาไว้บนดวงจันทร์ แล้วกลับโลกเพียงคนเดียว ตอนนี้ผมเหลือเวลาไม่กี่นาทีแล้วที่จะไปหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว” คอลลินส์เปิดเผยความรู้สึกในตอนนั้นหลังจากผ่านไปหลายสิบปี ซึ่งโชคดีที่สิ่งที่เขากลัวไม่เกิดขึ้น ภารกิจประสบความสำเร็จ และทั้ง 3 คนก็เดินทางกลับถึงโลกในวันที่ 24 ก.ค. 2512

เขายังเคยพูดติดตลกในปี 2559 ด้วยว่า การขาดการติดต่อกับโลกเกือบตลอดตอนโคจรรอบดวงจันทร์ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเหมือนกัน เพราะว่า “ศูนย์ควบคุมภารกิจจะได้เงียบไปสักพักหนึ่ง”

...

รอยเท้าของ บัซซ์ อัลดริน บนดวงจันทร์
รอยเท้าของ บัซซ์ อัลดริน บนดวงจันทร์

ปฏิเสธโอกาสเหยียบดวงจันทร์

ก่อนออกเดินทางไปกับภารกิจอพอลโล 11 คอลลินส์รู้อยู่แล้วว่าเขาจะไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งนาซาก็ให้คำมั่นว่า หลังจากกลับมาอย่างปลอดภัย คอลลินส์จะได้รับโอกาสเหยียบดวงจันทร์ในฐานะผู้บัญชาการภารกิจอพอลโล 17 แต่คอลลินส์ปฏิเสธ และตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นขณะที่เขามีอายุ 39 ปี ว่า เขาจะเกษียณจากงานนี้ เพราะเขาได้สร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองแล้ว

หลังจากนั้น คอลลินส์ก็ผันตัวไปเป็นข้าราชการ เริ่มจากทำงานให้กระทรวงต่างประเทศ ก่อนจะได้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บรรยากาศและอวกาศแห่งชาติ ที่ในเวลานั้นยังไม่ได้สร้างเลยด้วยซ้ำ ซึ่งคอลลินส์กลายเป็นหนึ่งในคนที่ดูแลการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ซึ่งในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม มีผู้มาเยือนหลายล้านคนต่อปี

ไมเคิล คอลลินส์ เสียชีวิตอย่างสงบโดยมีครอบครัวอยู่เคียงข้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างกล้าหาญ รวมอายุ 90 ปี แต่ชื่อของเขาจะยังคงมีชีวิตสืบไป และเป็นตัวอย่างให้แก่นักบินอวกาศรุ่นหลัง ที่จะกลับไปเยือนดวงจันทร์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ตามรอยเส้นทางของคอลลินส์ และผู้บุกเบิกคนอื่นๆ ของภารกิจอพอลโล



ผู้เขียน : H2O

ที่มา : spacetimenytimes

กราฟิก : Phantira

...