ได้ยินชื่อของ อีลอน มัสก์ เมื่อไหร่ ปกติชื่อเหล่านี้ก็จะตามมาในความคิด ไม่ว่าจะเป็น สเปซเอ็กซ์ (Space X), รถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla), ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือแม้แต่ เพย์พาล (PayPal) ซึ่งเป็นวิธีการชำระเงินผ่านออนไลน์
ทว่า นิวราลิงค์ (Neuralink) ที่เป็นหนึ่งในบริษัทของอีลอน มัสก์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 แรกอาจไม่ได้คุ้นหูนัก แต่ตอนนี้เชื่อว่าคนจำนวนมากจะจดจำติดใจยิ่งขึ้น
นิวราลิงค์ คือบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสายสื่อประสาทเป็นการออกแบบนวัตกรรมเชื่อมต่อสมองกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial intelligence) เรียกว่าเป็นการเชื่อมมนุษย์และจักรกลคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันก็ไม่ผิดนัก
เป้าหมายที่อีลอน มัสก์ คิดไว้ก็คือการฝังชิปคอมพิวเตอร์ในสมองแบบไร้สาย เพื่อช่วยรักษาสภาพทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และหลอมรวมมนุษย์เข้ากับปัญญาประดิษฐ์
ปี 2563 บริษัทนิวราลิงค์ ก็เผยแพร่วิดีโออัปเดตเกี่ยวกับเวอร์ชันไร้สายของการเชื่อมโยงสมองกับปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสตรีมการกระทำได้ 1,024 ช่องสัญญาณ เพิ่มกิจกรรมทางประสาทแบบเรียลไทม์ โดยทดลองกับสุกรซึ่งการทดลองแสดงให้เห็นว่าเซลล์ประสาทรับความรู้สึกทำงานอย่างไรและสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีได้
เมื่อเร็วๆนี้ นิวราลิงค์ก็ปล่อยวิดีโอการทำงานของเทคโนโลยี Brain-machine interface (BMI) ที่จะทำให้คลื่นสมองมนุษย์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถใช้แขนและมือได้ โดยทดลองกับลิงแสมเพศผู้ที่มีชิปฝังอยู่ที่สมองแต่ละข้าง จะเห็นว่าลิงสามารถเล่น “Mind Pong” ที่เป็นวิดีโอเกมแบบง่ายๆ หลังจากได้รับการฝังเทคโนโลยีใหม่ลงไป อีลอน มัสก์ ถึงกับทวีตในทวิตเตอร์ว่า นี่คือเครื่องมือแรกของนิวราลิงค์ที่จะช่วยให้คนที่เป็นอัมพาตใช้สมาร์ทโฟนได้เร็วกว่าคนที่ใช้นิ้วโป้งเสียอีก
...
ความสำเร็จอันน่าพอใจของนิวราลิงค์ อาจไม่หยุดแค่การทำไปใช้งานด้านการแพทย์ เพราะขนาดแม็ก โฮดัก ผู้ร่วมก่อตั้งนิวรา–ลิงค์ ยังทวีตว่า “เราอาจสร้างจูราสสิก พาร์ก ได้ถ้าเราต้องการ แต่คงไม่ใช่ไดโนเสาร์แท้ทางพันธุกรรม อาจต้องใช้เวลา 15 ปีในการผสมพันธุ์และวิศวกรรมเพื่อให้ได้สายพันธุ์แปลกใหม่”
ส่วน “เรา” ที่แม็ก โฮดักเอ่ยถึงนั้นจะรวมถึงอีลอน มัสก์หรือไม่? ชายหนุ่มไม่ได้เฉลย.
ภัค เศารยะ