• คลองสุเอซ เป็นคลองที่มนุษย์ขุดขึ้นในอียิปต์ แล้วเสร็จตั้งตั้งแต่ 152 ปีก่อน เพื่อหวังย่นระยะทางในการเดินทางทางเรือระหว่างเอเชีย-ยุโรป
  • ปัจจุบัน คลองสุเอซ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่คับคั่งที่สุดในโลก
  • ปี 2019 และ 2020 มีเรือสินค้าผ่านคลองสุเอซกว่า 1.8 หมื่นลำ สร้างรายได้ปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท

'คลองสุเอซ' ถูกกล่าวขานอย่างอื้ออึงอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ที่กำลังสั่นสะเทือนการค้าโลก เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ ‘Ever Given’ (เอเวอร์ กิฟเวน) ประสบเหตุติดตื้นขวางคลองสุเอซจนมิดมาตั้งแต่ 23 มีนาคม 2564 จนทำให้ขณะนี้มีเรือสินค้ามากกว่า 200 ลำ ที่ติดขัด ‘ไปต่อไม่ได้’ เฝ้ารอด้วยความลุ้นระทึกว่าปฏิบัติการกู้เรือยักษ์ เอเวอร์ กิฟเวน จะสำเร็จเมื่อใด?ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์!!

คลองสุเอซ เป็นคลองขนส่งที่มนุษย์ขุดขึ้นในประเทศอียิปต์ และแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อ 152 ปีก่อน เพื่อหวังใช้เป็นเส้นทางลัด ย่นระยะทางในการเดินเรือระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยไม่ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ในทวีปแอฟริกา ที่ต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆมากกว่าหลายเท่า เนื่องจากต้องเพิ่มระยะทางในการเดินเรืออีกถึง 6,000 กิโลเมตร

รู้จัก ‘คลองสุเอซ’ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด

...

นายเฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซป อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ เป็นผู้ต้นคิดโครงการขุดคลองสุเอซตามแนวคิดของอดีตฟาโรห์ที่ต้องการสร้างคลองเชื่อมระหว่างทะเลแดง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยนายเดอ เลสเซป ได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company) หลังจากได้รับสัมปทานจากทางการอียิปต์ โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการขุดคลอง 10 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1859-1869

ปัจจุบัน คลองสุเอซ มีความยาว 193.3 กิโลเมตร กว้าง 300-350 เมตร เป็นคลองที่ไม่มีประตูกั้นน้ำเนื่องจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง มีระดับน้ำเท่ากัน สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีความยาว 500 เมตร กว้าง 70 เมตร ลึก 70 เมตร

รู้จัก ‘คลองสุเอซ’ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด

ไม่ใช่ครั้งแรกที่โดนปิดคลอง

นับตั้งแต่คลองสุเอซก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดคลองในปี 1869 นั้น เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมีการปิดคลองสุเอซมาแล้วระหว่างปี 1956-1957 จนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ ซึ่งรู้จักในชื่อ สงครามอิสราเอลกับอาหรับ ครั้งที่ 2 และต่อมา ในปี 1967 คลองสุเอซต้องถูกปิดอีกครั้ง เมื่ออิสราเอลยึดครองคาบสมุทรไซนาย (แผ่นดินรูปสามเหลี่ยมที่มียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้ และด้านทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน)  จากนั้น คลองสุเอซก็ได้ถูกปิดมาตลอดจนถึงปี 1975

รู้จัก ‘คลองสุเอซ’ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีเรือสินค้าจำนวนมาก รออยู่ในทะเลแดง หลังเรือยักษ์ เอเวอร์ กิฟเว่น ขวางคลองสุเอซ
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีเรือสินค้าจำนวนมาก รออยู่ในทะเลแดง หลังเรือยักษ์ เอเวอร์ กิฟเว่น ขวางคลองสุเอซ

...

หนึ่งเส้นทางเดินเรือการค้าคับคั่งที่สุดในโลก

ปัจจุบัน คลองสุเอซ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทางการค้าที่คับคั่งที่สุดในโลก เพราะเป็นเส้นทางลัดในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยมีการประมาณการณ์กันว่าสินค้าทั้งหมดของโลกถึง 12% ถูกขนส่งผ่านคลองสุเอซ!!

ที่สำคัญ คลองสุเอซ ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันดิบ ถึงประมาณ 5-10% นอกจากนั้นสินค้าที่เหลือ เป็นสินค้าอุปโภค อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต และอุปกรณ์ออกกำลังกาย

เรือสินค้าเอเวอร์ กิฟเว่น ขวางคลองสุเอซ
เรือสินค้าเอเวอร์ กิฟเว่น ขวางคลองสุเอซ
รู้จัก ‘คลองสุเอซ’ เส้นทางลัดสำคัญเอเชีย-ยุโรป โดนเรือยักษ์ขวางจนมิด

...

คลองสุเอซทำรายได้ปีละกว่า1.6 แสนล้านบาท

คลองสุเอซ เป็นคลองที่มีการเดินเรือเพียงทางเดียว  โดยมี‘Suez Canal Authority’ หรือ SCA เป็นหน่วยงานบริหารจัดการคลองสุเอซ ซึ่งได้รายงานข้อมูลปี 2019-2020 :

-ปี 2019 มีเรือสินค้าที่เดินทางผ่านคลองสุเอซ ถึง 18,880 ลำ ระวางน้ำหนัก รวม 1.21 พันล้านตัน หรือเฉลี่ยแล้วมีเรือผ่านคลองสุเอซ 51.5 ลำต่อวัน

โดยในปี 2019 มีรายได้จากคลองสุเอซ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.74 แสนล้านบาท คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 30 บาท)

-ปี 2020 มีเรือสินค้าผ่านคลองสุเอซ 18,829 ลำ ระวางน้ำหนัก 1.17 พัน ล้านตัน มีรายได้ 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท)

ด้วยเหตุนี้ การปิดคลองสุเอซ 2 ครั้งก่อนที่ผ่านมา อาจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงเท่ากับครั้งนี้ เพราะการติดตื้น ขวางคลองสุเอซ ของเรือยักษ์เอเวอร์ กิฟเว่น ซึ่งมีความยาวนับ 400 เมตร กว้าง 200 เมตร ขนาดระวาง 2 แสนตัน กำลังสั่นสะเทือนการค้า ระหว่างเอเชียกับยุโรปที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 1975 หรือครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเลยทีเดียว..

ผู้เขียน: อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : cnbc ,reuters ,CNN

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

...