- ‘เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้ (Non-Fungible Tokens)’ หรือ NFT คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่ละเหรียญจะยึดโยงกับผลงานที่ผลิตเป็นไฟล์ดิจิทัล 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพลง หรือรูปภาพ ตัวอักษร นวัตกรรมดังกล่าวเปิดทางให้เราสามารถอ้างความเป็น ‘เจ้าของ’ ผลงานดิจิทัลหนึ่งชิ้นแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าทุกคนจะสามารถดาวน์โหลดผลงานดังกล่าวได้ฟรีบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม
- ปัจจุบัน ตลาด NFT กำลังคึกคัก โดยมีการเติบโตรวดเร็วอย่างน่าตกใจ เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาด NFT มียอดขายเพียงราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น แต่เดือนที่แล้วกลับพุ่งไปแตะ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในชั่วพริบตา โดยมีผลงานที่โดดเด่นอย่าง Everydays — The First 5000 Days ที่ถูกประมูลไปในราคา 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีใครต้องการเป็นเจ้าของผลงานศิลปะดิจิทัลมูลค่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐไหมครับ?
หากผู้อ่านคนไหนสนใจก็ไม่ยากอะไร แค่คลิกขวาที่ภาพด้านบนแล้วกดเซฟ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ครอบครองผลงานศิลปะดิจิทัลราคาแพงไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อเชยชมในเวลาว่าง แต่หากจะนำไปขายต่อคงลำบากสักหน่อย เพราะผู้ซื้อก็คงตอบกลับว่าไม่เป็นไร ฉันกดเซฟภาพเองได้ไม่ต้องห่วง!
นี่แหละครับคือปัญหาพื้นฐานของสินทรัพย์ดิจิทัล ในเมื่อทุกอย่างถูกแปลงเป็นไฟล์การผลิตซ้ำจึงสามารถทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ที่ผ่านมาผลงานที่เผยแพร่บนโลกดิจิทัลจำนวนมากจึงเป็นไปเพื่อความสนุกส่วนตัว โดยไม่ได้คาดหวังว่าวันหนึ่งผลงานเหล่านั้นจะกลายเป็นงานศิลปะมูลค่ามหาศาล
...
Everydays — The First 5000 Days คือผลงานศิลปะดิจิทัลที่ ‘มีอัตลักษณ์โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกศิลปะดิจิทัล’ งานชิ้นนี้เป็นงานสไตล์คอลลาจ ร้อยเรียงภาพจำนวน 5,000 ภาพ ที่รังสรรค์โดย Beeple ศิลปินผู้มีชื่อเสียงบนโลกดิจิทัล ที่ประกาศตัวว่าจะโพสต์ภาพศิลปะออนไลน์ทุกวัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2007 ต่อเนื่องเป็นเวลา 5,000 วัน โดยไม่ขาดตกบกพร่องสักวันเดียว และผู้ชมสามารถซูมเข้าไปดูภาพแต่ละภาพซึ่งสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของศิลปิน ปะปนด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึงการเมืองในสหรัฐอเมริกา
งานศิลปะชิ้นนี้ได้รับการตีมูลค่าโดยผู้ประมูลสูงถึง 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้การจัดการของ Christie's โรงประมูลศิลปะเก่าแก่สัญชาติอังกฤษ แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้ชนะการประมูลได้รับย่อมไม่ใช่ไฟล์ JPEG ความละเอียดสูงบรรจุในฮาร์ดดิสก์ประดับเพชร แต่เป็น ‘เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้' (Non-Fungible Tokens) หรือ NFT นวัตกรรมที่ทำให้เราสามารถแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้ แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลก็ตาม
NFTs คืออะไร?
NFT คือ ‘เหรียญ’ ที่แต่ละเหรียญจะยึดโยงกับผลงานที่ผลิตเป็นไฟล์ดิจิทัล 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพลง หรือรูปภาพ ตัวอักษร หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงคล้ายกับโฉนดที่ดินซึ่งแต่ละใบจะระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ถือครองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงไหน นวัตกรรมดังกล่าวจึงเปิดทางให้เราสามารถอ้างความเป็น ‘เจ้าของ’ ผลงานดิจิทัลแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าทุกคนจะสามารถดาวน์โหลดผลงานดังกล่าวได้ฟรีบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม
เหรียญ NFT เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งนับเป็นกระดูกสันหลังของสกุลเงินดิจิทัลที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง บิตคอยน์ (Bitcoin) เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจได้ว่า ความเป็นเจ้าของผลงานศิลปะในรูปเหรียญจะไม่ถูกผลิตซ้ำ อีกทั้งทุกคนยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รวมถึงประวัติการเปลี่ยนมือผลงานชิ้นดังกล่าวอย่างละเอียดอีกด้วย
เนื่องจากผลงานทุกรูปแบบสามารถเปลี่ยนให้เป็นเหรียญ NFT ผลงานดิจิทัลที่ถูกนำมาจำหน่ายจึงไม่ได้จำกัดเพียงรูปภาพ แต่ยังมีอัลบั้มใหม่ของวงร็อกอย่าง Kings of Leon คลิปนักกีฬาบาสเกตบอลชื่อดังซึ่งถูกนำมาจำหน่ายโดย NBA ไปจนถึงโพสต์ทวิตเตอร์ของ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่มีผู้ยื่นขอซื้อในราคา 1.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ - แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
นอกจากนี้ การแปลงผลงานศิลปะดิจิทัลเพื่อนำมาจำหน่ายในรูปแบบ NFT ยังไม่ยุ่งยาก เหรียญดังกล่าวยังมีสภาพคล่องสูงและเปลี่ยนมือได้ง่าย ขณะที่ลิขสิทธิ์ยังคงเป็นของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน โดยเขาหรือเธอจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่ผลงานดิจิทัลมีการเปลี่ยนมือ โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มที่มีการซื้อขาย NFT มีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น OpenSea Foundation และ Nifty Gateway
หากใครสนใจคิดจะเข้าไปเก็งกำไรในช่วงเวลาที่ตลาด NFT กำลังคึกคัก ผู้เขียนขอเตือนให้ระมัดระวังสักหน่อย เพราะตลาดดังกล่าวเติบโตรวดเร็วอย่างน่าตกใจ เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาด NFT มียอดขายเพียงราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น แต่เดือนที่แล้วกลับพุ่งไปแตะ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในชั่วพริบตา
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า ภาวะดังกล่าวใกล้เคียงกับกระแสการระดมเงินเข้าสู่บริษัทโดย การจำหน่ายเหรียญดิจิทัลครั้งแรก (Initial Coin Offerings: ICO)
หากใครยังพอจำได้ กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 สร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ว่าเป็นนวัตกรรมที่อาจทำให้บริษัทไม่ต้องง้อการระดมเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป แต่ผ่านไปไม่นาน กระแสดังกล่าวก็หดหายพร้อมกับราคาเหรียญดิจิทัลที่ร่วงดิ่งเหว จนปัจจุบันเราแทบไม่ได้ยินใครพูดถึงการทำ ICO อีกเลย
เราซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลไปทำไม?
คนจำนวนไม่น้อยที่มองกระแสการซื้อเหรียญ NFT ว่าเป็นเรื่องงี่เง่า เพราะการซื้อของที่เราสามารถหาชมหาฟังได้ฟรีๆ บนอินเทอร์เน็ต ดูเป็นเรื่องที่คนปกติไม่น่าจะทำ
เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง Nyan Cat ไฟล์ภาพขยับได้รูปมีมแมวงุ้งงิ้งในกล่องสีชมพู ทะยานไปบนอวกาศโดยปล่อยรุ้งทอดยาวเป็นทาง ภาพดังกล่าวเคยเป็นที่แพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อราว 10 ปีก่อน และยังพอเห็นผ่านตาบ้างในปัจจุบัน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คริส ตอร์เรส (Chris Torres) ผู้สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวได้เปิดประมูล Nyan Cat ในรูปแบบเหรียญ NFT ลองทายกันไหมครับว่าเจ้ามีมแมวงุ้งงิ้งนี้ถูกจำหน่ายไปในราคาเท่าไร?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าภายใน 24 ชั่วโมง ภาพดังกล่าวจะมีผู้เสนอซื้อในราคาสูงถึง 6.9 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18 ล้านบาท โดยผู้ซื้อไม่ประสงค์ออกนาม ชวนให้ตั้งคำถามว่าผู้ซื้อมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ควักกระเป๋าจ่ายเงินมูลค่ามหาศาลเพื่อความเป็นเจ้าของมีมที่สามารถหาได้ทั่วไปในโลกอินเทอร์เน็ต
ความเป็นไปได้อย่างแรกคือวัฒนธรรมการสะสมของเหล่าผู้คลั่งไคล้ ผู้มีสตางค์เหล่านี้พร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อผลงานที่ตนเองรัก โดยอาจจะเป็นการ์ดสะสมหายาก ฟิเกอร์ที่ผลิตมาจำนวนจำกัด หนังสือพร้อมลายเซ็นนักเขียนฉบับพิมพ์ครั้งแรก และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเหรียญ NFT คือนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้นักสะสมสามารถ ‘ครอบครอง’ ผลงานดิจิทัลได้เป็นครั้งแรก และยังเป็นการสนับสนุนศิลปินทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือความสุขทางใจที่ได้รู้ว่าเราเป็นเจ้าของผลงานดังกล่าว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่าสิ่งของเหล่านั้นจะนำไปใช้สร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง
ความโดดเด่นประการหนึ่งของเหรียญ NFT คือบัญชีของผู้ถือครองผลงานศิลปะดิจิทัลแต่ละชิ้นจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ การที่เราได้ถือครองผลงานศิลปะดิจิทัลชิ้นสำคัญก็คล้ายกับการที่มีชื่อเราปรากฏบนป้ายพิพิธภัณฑ์ว่าเรา ‘ให้เช่า’ ผลงานศิลปะชิ้นนี้ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่หลายคนยินดีจะจ่าย อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนศิลปินคนโปรดอีกด้วย
นอกจากผลงานโดยศิลปินชื่อดังบนโลกออนไลน์แล้ว นวัตกรรม NFT ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่นำผลงานมาจำหน่ายได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องฝ่าฟันความยุ่งยากจากโรงประมูลงานศิลปะเก่าแก่ เมื่อ NFT เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็สามารถเอาตัวรอดได้จากวิกฤติดังกล่าวผ่านการจำหน่ายศิลปะดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ขณะที่หลายคนมองว่าปัญหาการ ‘ผลิตซ้ำ’ ของผลงานดิจิทัลได้แบบไม่จำกัดโดยที่ยังคงมีคุณภาพเท่าเดิม อาจเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย
ลองนึกดูง่ายๆ ว่าถ้าเราเดินทางไปไกลถึงเนเธอร์แลนด์เพื่อถ่ายภาพชิ้นงานศิลปะในดวงใจ เช่น The Starry Night โดย วินเซนต์ แวน โกห์ (Vincent van Gogh) แล้วโพสต์ลงบนโลกออนไลน์ การทำเช่นนี้ก็ถือเป็นการทำซ้ำรูปแบบหนึ่ง แต่มูลค่าของภาพดังกล่าวอาจไม่ได้ลดลง แต่กลับจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมีคนได้เห็น ชื่นชม และรู้จักทั้งภาพวาดและศิลปินมากขึ้น การผลิตซ้ำและการเข้าถึงได้ง่ายของผลงานดิจิทัลจึงอาจเป็น ‘ตัวเร่ง’ ที่ทำให้ผลงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าผลงานศิลปะฉบับออฟไลน์ที่ซ่อนตัวอยู่ตามพิพิธภัณฑ์
นวัตกรรม NFT จึงเป็นการเปิดประตูบานใหม่ที่ทำให้เราสามารถถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
...
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมูลค่าของ NFT มีความผันผวนอยู่มาก หากใครคิดจะลงทุนก็ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนทำธุรกรรมนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน!
อ่านเพิ่มเติม:
Non-fungible tokens are useful, innovative—and frothy
Turns out selling cat memes is a purr-fect opportunity for entrepreneu
The $69 Million JPEGJPG File Sells for $69 Million, as ‘NFT Mania’ Gathers Pace