• ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายชุมชนในสหรัฐฯมีข่าวเหตุรุนแรงพุ่งเป้าโจมตีคนเชื้อสายเอเชียเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการปล้นชิงทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะเหยื่อผู้เสียหายที่เป็นผู้สูงอายุ ขณะที่ตลอดทั้งปีที่แล้ว (มี.ค.-ธ.ค.2563) มีสถิติการแจ้งเหตุทำร้ายร่างกายคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 2,808 ราย
  • ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิตของ นายวิชา รัตนภักดี ผู้ที่มีเชื้อสายไทย วัย 84 ปี ในนครซานฟรานซิสโก เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทั้งจากภาครัฐและชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ และทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจปมปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชีย 
  • เครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันออกมาแชร์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชียผ่านอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ พร้อมรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #AsiansAreHuman และ #JusticeForVicha เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ

กรณีที่เกิดขึ้นกับคุณปู่วิชา รัตนภักดี ไม่ได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่คนเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander-AAPI) ตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย ที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม วัย 64 ปี ถูกทำร้ายร่างกายชิงทรัพย์ไปเป็นเงินกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่นิวยอร์ก หญิงชราชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ วัย 61 ปี ถูกทำร้ายร่างกายบนรถไฟใต้ดิน และที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ชายเชื้อสายจีน วัย 91 ปี ถูกทำร้ายร่างกายที่ย่านไชน่าทาวน์ กรณีทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และเหยื่อผู้เสียหายเหล่านี้ถูกคิดว่าเป็นคนจีน เป็นตัวแพร่เชื้อไวรัส

...

โรคโควิด-19 กระตุ้นความเกลียดชังคนเอเชีย 

พบว่าการก่อเหตุรุนแรงจากความเกลียดชังต่อคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปลุกปั่นให้เกิดภาวะความเกลียดกลัวคนต่างชาติ (xenophobia) จากข่าวเชื้อโรคร้ายที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน

ขณะเดียวกันการที่ในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักใช้ถ้อยคำ "Hate speech" ที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง ซ้ำๆ บ่อยครั้ง ทั้งในโซเชียลมีเดียและเวลาออกไปปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ตั้งแต่ข้อความที่ว่า "ไวรัสจีน" "ไวรัสอู่ฮั่น" "กังฟลู" (kung flu) หรือหวัดจากจีน และประโยคที่บอกว่าจะต้องให้จีนชดใช้ต่อความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้   

ผู้ร่วมชุมนุมสนับสนุนทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์ร่วมตะโกนถ้อยคำรุนแรงเหล่านี้มานานหลายเดือน จากแค่ตะโกนเฉยๆ ก็กลายเป็นออกมาหาเหยื่อก่อเหตุทำร้ายร่างกาย 

สำนักงานตำรวจนิวยอร์กเปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วนับตั้งแต่มีข่าวโควิด-19 อาชญากรรมจากความเกลียดชังคนเชื้อสายเอเชีย ในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นถึง 1,900% ด้านองค์กร Stop AAPI Hate เปิดเผยว่า มีการแจ้งเหตุรุนแรงจากการเกลียดชังต่อต้านชาวเอเชียถึง 2,808 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม ปีที่แล้ว ใน 47 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่แนวโน้มการเกิดเหตุรุนแรงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้

...

 

ความเป็น Model Minority ของคนเอเชียในอเมริกา

ที่ผ่านมาในสายตาคนผิวขาวมักมองว่า คนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯเป็นชนกลุ่มน้อยดีเด่น เป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะทางสังคมดี มีการศึกษาสูง มีรายได้มากกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ ทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ คนเชื้อสายเอเชียถูกมองว่าเป็นคนขยัน อดทนทำมาหากิน 

สื่อต่างๆ ก็มีภาพความสำเร็จ ความร่ำรวยของคนเชื้อสายเอเชีย อย่างในภาพยนตร์ "Crazy Rich Asians" และ "Bling Empire" ทาง Netflix ส่วนในภาพความเป็นจริง ผลการศึกษาของ Pew Research Center เมื่อปี 2561 พบว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีรายได้สูงกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ ในสหรัฐฯ ด้านศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ผู้อพยพที่มาจากแถบเอเชีย มีฐานะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดของรายงานด้านปัญหาความยากจนของเมือง 

ขณะที่สาเหตุการก่ออาชญากรรมความรุนแรง ฉกชิงทรัพย์สินส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ประจำ ผู้ก่อเหตุเลือกเหยื่อที่ดูหน้าตาเป็นคนเชื้อสายเอเชียที่ถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวย

...

#AsiansAreHuman ต้านการเหยียดคนเอเชีย

เคสแล้วเคสเล่าที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนคนเชื้อสายเอเชียอยู่ในภาวะระวังตัวขึ้นสูงสุด เพราะไม่รู้ว่าเหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นกับตัวเองตอนไหน ขณะที่ผู้คนในโลกออนไลน์และบรรดาคนดังในแวดวงต่างๆ ทั่วโลกต่างออกมาประณามความรุนแรง และช่วยกันออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันออกมาแชร์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชียผ่านอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ พร้อมรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #AsiansAreHuman และ #JusticeForVicha เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หลังเกิดกรณี นายวิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปี ถูกผลักล้มบาดเจ็บสาหัสขณะเดินออกกำลังกาย ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น Allure มิเชล ลี และฟิลิป ลิม ดีไซเนอร์คนดัง ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอประสบการณ์ตรงจากการถูกเหยียดเชื้อชาติ และขอให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้ผ่านแฮชแท็ก #StopAsianHate

ขณะที่คนดังในแวดวงฮอลลีวูดก็ออกมาร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อคนเอเชียผ่านแฮชแท็กนี้ อย่างคริสซี ทีเกน นางแบบและพิธีกรชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ออกมาโพสต์รูปภาพทางอินสตาแกรมเกี่ยวกับข้อมูลสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น และแชร์ข้อมูลช่องทางการสนับสนุนองค์กรและเครือข่ายที่ช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากการเหยียดเชื้อชาติ

นอกจากนี้ยังมี อีวา เฉิน และอควาฟินา ตามมาด้วย โอลิเวียร์ มันน์ นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามที่ออกมาโพสต์รูปที่รวบรวมเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีชาวเอเชียเสียชีวิต ทั้งชายวัย 91 ปี ที่เมืองโอ๊คแลนด์ นายวิชา รัตนภักดี และหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามที่ถูกโจมตีในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย

...

การเยียวยาจิตใจคนในชุมชนคนเชื้อสายเอเชีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เล็งเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยลงนามคำสั่งผู้บริหารประณามต่อการกระทำเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติเอเชียตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงคำแนะนำในการต่อสู้กับการต่อต้านคนเชื้อสายเอเชียที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องมาจากความโกรธแค้นและวาทกรรมที่สร้างความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้คนกลุ่ม AAPI ครอบครัว ชุมชน และธุรกิจของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง

นายไบเดนระบุว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-10 คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ทั้งการตกเป็นเหยื่อถูกคุกคามข่มขู่ด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น รัฐบาลกลางจึงขอประณามการกระทำเหล่านั้น พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบและป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านการเลือกปฏิบัติ

โดยระบุว่าตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และถูกคุกคามด้วยการเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น รัฐบาลกลางในนามของตนจึงขอประณามการกระทำเหล่านั้น พร้อมทั้งชาวอเมริกันทุกคน โดยบอกว่าจะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนเชื้อสายเอเชียแปซิฟิก ทั้งบริการด้านสาธารณสุข จัดหางาน และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในกรณีที่เกิดอาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติ 

ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตอนนี้มีหลายหนทางในการช่วยเหลือคนเชื้อสายเอเชียที่ต้องต่อสู้กับปัญหาความรุนแรง อย่างการรวมกลุ่มในชุมชน ตั้งกลุ่มอาสาออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุในย่านไชน่าทาวน์ การออกมาเป็นกระบอกเสียงช่วยกันตีแผ่ความรุนแรง เรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงภัยอันตรายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับคนผิวดำ และการสนับสนุนธุรกิจของคนเชื้อสายเอเชียในชุมชนต่างๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ. 

ผู้เขียน: เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล: Human Right WatchNBCCNNCNBC