กองทัพเมียนมาประกาศก่อรัฐประหารยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลพลเรือนแล้ว หลังจากที่ยอมถอยให้รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นางออง ซาน ซูจี ปกครองประเทศมานานหลายปี

กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล นางออง ซาน ซูจี ตามคาด โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมาได้ถ่ายทอดสด กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์แจ้งเหตุผลที่มีการบุกควบคุมตัว ออง ซาน ซูจี พร้อมกับประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และแกนนำคนอื่นๆ ของพรรครัฐบาล สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. ว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปีด้วย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกองทัพ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศ การจับกุมตัวนางซูจี รวมทั้งแกนนำคนอื่นๆ เตือนให้นึกถึงวันที่ประเทศเมียนมาต้องกลับไปอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นางซูจี ได้มีโอกาสในการบริหารประเทศเมียนมา หลังจากที่เธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งในปี 2558 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่เสรีที่สุดและยุติธรรมที่สุดในรอบ 25 ปี โดยในเช้าวันนี้ พรรคเอ็นแอลดีภายใต้การนำของนางซูจี ควรที่จะต้องเริ่มบริหารประเทศในสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ แต่กลับเกิดการทำรัฐประหารขึ้น

...

ที่ผ่านมา แม้ นางซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารประเทศ แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าเบื้องหลังที่ผ่านมากองทัพเมียนมา ก็ยังคงมีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดทิศทางของเมียนมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมากำหนดให้ 1 ใน 4 ของที่นั่งในสภา รวมทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญจะต้องเป็นที่นั่งของคนในกองทัพ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าทำไมถึงต้องก่อรัฐประหารในเวลานี้ และมากไปกว่านั้นคือคำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

ข้อกล่าวหา "โกงเลือกตั้ง"

การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดี คว้าชัยชนะได้คะแนนเสียงมามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าคะแนนความนิยมยังคงสูง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมชาวโรฮีนจาอยู่ก็ตาม โดยกลุ่มการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลัง ต่างกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งข้อกล่าวหานี้ก็ถูกย้ำอีกครั้ง โดย มินต์ ส่วย ประธานาธิบดีรักษาการ เพื่อยืนยันความชอบธรรมในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศเป็นเวลา 1 ปี พร้อมกันนี้ก็ยังกล่าวหาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนทำให้รายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความผิดปกติ แม้ว่าจะมีหลักฐานน้อยมากเพื่อมายืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว


ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชในเอเชีย ให้ข้อมูลกับบีบีซีว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการประกาศก้องอย่างชัดเจนว่า นางซูจี ยังคงชนะขาดอีกครั้ง จนเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แม้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวจะเป็นกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐาน การเข้ายึดอำนาจดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล เป็นเพียงแค่ความรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจ และกองทัพจะยอมไม่ได้


ความอับอายของ บิดาแห่งชาติ

การเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่หนุนหลังโดยกองทัพอาจจะได้รับชัยชนะมาเล็กน้อย แต่เพราะกองทัพยังคงมีอำนาจที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ทำให้คนในกองทัพได้ที่นั่งในรัฐสภามาโดยอัตโนมัติ แถมยังได้นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญถึง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน ดังนั้น ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังคงเดิม กองทัพก็ยังคงมีอำนาจในมือ ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีจะโหวตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ เพราะนั่นหมายถึง พรรครัฐบาลของนางซูจี จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กองทัพมีเสียงในมืออยู่แล้วไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์

ด้านอดีตสื่อมวลชนในเมียนมามองว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในวันนี้ คือ ความอับอายของกองทัพเมียนมา เนื่องจากพวกเขาไม่คาดคิดว่าจะแพ้ และการพ่ายแพ้เลือกตั้งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คนที่เคยสนับสนุนกองทัพบางส่วนก็หันไปเลือก นางออง ซาน ซูจี ด้วย โดยในขณะที่นานาชาติยกย่องว่านางซูจี คือมารดาของชาติ กองทัพก็เชื่อมั่นว่าพวกเขาก็คือบิดาแห่งชาติด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่ากองทัพมีสิทธิ์ในการปกครองประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศเมียนมาเริ่มเปิดและทำการค้ามากขึ้น ทำให้อำนาจของกองทัพลดลง และมองว่ามุมมองจากคนนอก เป็นอันตรายต่อประเทศ

นอกจากนี้ ภาวะโรคระบาด และแรงกดดันจากนานาชาติในประเด็นชาวโรฮีนจากลับไม่ส่งผลใดๆ ต่อคะแนนความนิยมของนางซูจี ยิ่งเป็นตัวเร่งให้กองทัพเมียนมาต้องทำอะไรสักอย่างในเวลานี้

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้?

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงไม่แน่ใจว่า อะไรเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กองทัพต้องเคลื่อนไหวในเวลานี้ นายเจอร์รัลด์ แมคคาร์ธีย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่า ดูเหมือนจะไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนักที่กองทัพมาเคลื่อนไหวในเวลานี้ เพราะระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้กองทัพได้เปรียบอยู่แล้ว ทั้งความมีอิสระในการสั่งการ มีการลงทุนจากนานาชาติหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น อีกทั้งยังมีฉากบังหน้าจากข้อครหาอาชญากรสงคราม แต่การยึดอำนาจเป็นเวลา 1 ปี และประกาศจะตัดขาดจากพันธมิตรชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน จะส่งผลร้ายต่อการค้า และยังกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากมวลชนนับล้านที่ให้การสนับสนุนนางซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ให้บริหารประเทศต่ออีกสมัยด้วย แม้กองทัพอาจจะหวังที่จะทำให้คะแนนเสียงของพรรคยูเอสดีพีดีขึ้นในการเลือกตั้งในอนาคตได้ แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงสูง

...

ด้าน ฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมนไรท์วอช ชี้ว่าการเคลื่อนไหวในประเทศเมียนมาครั้งนี้ จะทำให้เมียนมากลายเป็น รัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกอีกครั้ง และจะสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน เขาคิดว่าชาวเมียนมาไม่น่าจะปล่อยให้เรื่องเป็นแบบนี้ พวกเขาคงไม่ต้องการกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารอีกในอนาคต เพราะพวกเขามองว่านางซูจีจะเป็นปราการสำคัญที่ป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าอาจจะยังพอมีหวังในการแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการเจรจา เพราะหากเริ่มมีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้น เมียนมาจะเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่อย่างแน่นอน.

ที่มา : บีบีซี