ทุกอย่างย่อมย้อนกลับไปที่ “เงิน” ทั้งสิ้น เป็นคำพูดอย่างตรงไปตรงมาของท่านเอกอัครราชทูต ซัยยิด เรซา โนบัคตี แห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ต่อมุมมองสถานการณ์ความมั่นคงโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลังสหรัฐอเมริกากำลังจะได้ผู้นำคนใหม่อย่างเป็นทางการนามว่า “โจ ไบเดน”

โดยท่านทูตกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐฯแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดที่อยู่ในอำนาจ จะเป็น “รีพับลิกัน” หรือ “เดโมแครต” ก็ไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่อเมริกาปลื้มที่สุดคืออำนาจและเงินตรา เป็นมาเช่นนี้ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนเข้าร่วมสงครามก็ขายอาวุธให้ยุโรป

ข้ามมาสมัยสิ้นสุดสงครามเย็น เหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย กองทัพอิรักของ “ซัดดัม ฮุสเซน” ที่สหรัฐฯมีความสัมพันธ์อันดีในช่วงนั้น ได้บุกโจมตีเข้าทำลายบ้านเมืองของ “คูเวต” จนราบคาบ แน่นอนคนที่ได้สัมปทานการฟื้นฟูโครงสร้างขั้นพื้นฐานของคูเวตคือใคร และเห็นอยู่ว่าหลังสงครามรุกราน “อิรัก” ในทศวรรษต่อมา ประเทศที่ยกเครื่อง จัดหาอาวุธให้กองทัพอิรักทั้งหมดคือใคร

จนถึงสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ “ซีเรีย” ถูกทำลายล้าง มีผู้บริสุทธิ์ล้มตายมากมาย ทั้งที่รัฐบาลก็มีกระบวนการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี สุดท้ายก็ถูกมองว่า “ประชาธิปไตยไม่พอ” แต่แน่นอนไม่พูดหรอกว่า เป้าหมายคือ “น้ำมัน” พ่วงมากับความไม่พอใจ ที่อิหร่าน-อิรัก-ซีเรีย มีโครงการท่อส่งน้ำมันจากอิหร่านสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

...

สำหรับอิหร่านเอง ถือว่าผ่านความเจ็บปวดมามากมาย โดยท่านทูตเผยต่อว่า ในปี 2558 ได้มีการบรรลุความตกลงระหว่างประเทศต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน หรือแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) กับ 5+1 คือสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ บวกเยอรมนี ซึ่งในช่วงนั้น ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ ได้ส่งทีมเข้ามาตรวจสอบเราแล้ว 16 ครั้ง

พร้อมมีการรับรองว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงเจซีพีโอเอ อย่างเรื่องการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมได้ไม่เกิน 3.67 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้าย “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ประกาศถอนตัวไปดื้อๆ ขณะที่ชาติอื่นๆก็พากันสงวนท่าที เหมือนกลัวสหรัฐฯจะโมโหหรือดำเนินการอะไร

อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วเรื่องนี้ มันก็วกกลับมาเรื่อง “เงิน” เหมือนเดิม เพราะเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์สามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ยกตัวอย่างการเสริมสมรรถนะแร่กัมมันตรังสี มีชาติที่ทำได้ในโลกไม่ถึง 10 ประเทศ ซึ่งพออิหร่านจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคลับสมาคมบ้างก็ถูกปฏิเสธ กดดันที่จะเสนอขายแร่-ขายอุปกรณ์ให้เราแทน ทราบไหมว่าการมีนิวเคลียร์มันช่วยประหยัดไปแค่ไหน ดูจากการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ หากใช้นิวเคลียร์ก็ง่ายมาก แต่ถ้าน้ำมันจะใช้ปริมาณสูงกว่า 560,000 บาร์เรล

จึงเป็นที่มาว่าทำไมประเทศ “อิหร่าน” ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนล่าสุดที่เราตัดสินใจเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่สามารถไว้ใจชาติที่มีพฤติกรรมแบบนี้ได้อีก และเชื่อว่าทั้งหมดนี้เลยเป็นสาเหตุว่าทำไม “โมห์เซน ฟาครีซาเดห์” ผู้ถูกขนานนามว่าบิดาแห่งนิวเคลียร์อิหร่าน ถึงถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกสังหารก่อนหน้านี้หลายคน

สำหรับการเสียชีวิตของฟาครีซาเดห์ ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมาก เพราะนอกจากเขาจะดูแลเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์แล้ว ยังดูแลและอยู่ระหว่างการพัฒนา “วัคซีน” สำหรับต้าน “ไวรัสโควิด–19” ที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดการ อิหร่านจะเริ่มทดสอบวัคซีนของตัวเอง จำนวน 2 ชนิด หลังช่วงปีใหม่ของประเทศ หรือตามปฏิทินสากลคือ หลังเดือน มี.ค.2564

และแน่นอน อิหร่านจะต้องตอบโต้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงแต่เราอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าใครบ้างประเทศใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารอันโหดเหี้ยม

มุมมองทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้พูดในฐานะนักการเมือง แต่พูดในฐานะที่ศึกษาวิชาด้านเศรษฐกิจโลก ว่าอำนาจและเงินคือทุกสิ่งจริงๆ ขณะที่ “ประชาธิปไตย” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ล้วนเป็นแค่เกม เกมหนึ่ง ดูอย่างประเทศใหญ่ๆในตะวัน-ออกกลางที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ทั้งที่ก็ไม่ได้มีรัฐสภาไม่มีอะไรเลย ส่วนประเทศไทย ก็เคยถูกโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ทั้งที่มีสถาบันฯ มีนายกรัฐมนตรี มีรัฐสภา การเลือกตั้งและอื่นๆ แต่สรุปไม่เพียงพออยู่ดี

...

นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะบางประเทศที่เป็นมหาอำนาจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว อิหร่านขอเป็นประเทศที่พร้อมจะเผชิญและ “กล้า” ที่จะพูดถึงสภาพความเป็นจริงของโลกเรา.

วีรพจน์ อินทรพันธ์