• สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังเจรจาข้อตกลงเรื่องความสัมพันธ์หลังจากนี้

  • การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ติดขัดในหลายประเด็น ในขณะที่เส้นตายวันที่ 31 ธ.ค. กำลังใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว

  • หากการเจรจาไม่สำเร็จ และสหราชอาณาจักรต้องถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลง ผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรง และเกิดขึ้นในหลายภาคส่วน

สหราชอาณาจักร (UK) ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือ เบร็กซิต อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่สำหรับชาวบริติช การใช้ชีวิตของเขายังแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ว่า ให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิมไปก่อนเป็นเวลา 11 เดือน

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทีมเจรจาของทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป จะหารือกันเพื่อบรรลุข้อตกลงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังจากนี้ ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต, การงาน และการค้า แต่จนถึงตอนนี้ พวกเขายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากการเจรจาล้มเหลวไม่ทันเส้นตายวันที่ 31 ธ.ค.นี้

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

...

ทำไม UK กับ EU ต้องเจรจาข้อตกลง?

สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ทำข้อตกลงด้านการค้าและการค้าระหว่างกันมาตลอด โดยในสมัยที่ UK ยังเป็นสมาชิก EU บริษัทต่างๆ ในอังกฤษสามารถซื้อหรือขายสินค้าทั่วสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า แต่ถ้าพวกเขาต้องแยกตัวออกไปโดยไม่มีข้อตกลงการค้า ธุรกิจต่างๆ จะต้องเริ่มจ่ายภาษีที่ว่า ทำให้สินค้าแพงขึ้น

นอกจากนั้น UK ยังต้องการทำข้อตกลงกับ EU ในเรื่องบริการต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ในเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร แม้เรื่องนี้ไม่ได้ถกยกขึ้นมาในการเจรจาครั้งล่าสุด แต่เป็นไปได้ที่จขะมีการเจรจานอกรอบในภายหลัง ขณะที่ข้อตกลงในด้านอื่นๆ เช่นความปลอดภัยการบิน, ยา และการแบ่งปันข้อมูลความมั่นคง ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

เจรจาคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?

การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ควรสิ้นสุดลงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบให้หารือเรื่องข้อตกลงต่อ และมีความคืบหน้ากรณีชายแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของ UK ที่เชื่อมต่อกับ EU ทางบก โดยอังกฤษยอมถอน ‘กฎหมายตลาดภายใน’ ที่เป็นปัญหามาตลอดแล้ว

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. การประมง - EU ต้องการจำกัดจำนวนเรือของพวกเขาที่จะเข้าไปในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถหาปลาในพื้นที่ดังกล่าวได้ต่อไป แต่ฝั่ง UK ต้องการดึงธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาเป็นของตัวเองทั้งหมด และว่าจะให้ความสำคัญกับเรือประมงของตัวเองเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 ซึ่งพวกเขาจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายการประมงของ EU อีก

ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเข้าสู่นานน้ำ แต่ยังรวมถึงการที่อังกฤษได้ส่วนแบ่งโควตาการประมงมากกว่า ทั้งจำนวนจุดที่จับปลา และชนิดของปลาที่จับ ซึ่งหากไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้ UK จะได้น่านน้ำอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่ไม่สามารถขายปลาเข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรปโดยปราศจากกำแพงภาษีได้



2. การแข่งขันที่เท่าเทียม - EU กังวลว่า สหราชอาณาจักรจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทในประเทศตัวเอง หรือหาช่องทางให้พวกเขาได้เปรียบในการค้า สหภาพยุโรปจึงต้องการให้ UK ทำตามกฎของ EU หลายเรื่องทั้ง สิทธิแรงงาน, การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และกฎเรื่องการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาล แต่ UK ก็โต้แย้งว่า พวกเขา เบร็กซิต ก็เพราะไม่ต้องการทำตามกฎของสหภาพยุโรปอีกต่อไป

จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ในเรื่องบรรทัดฐานด้านการตรวจสอบ แต่ EU ยังไม่สามารถกล่อมให้ UK ทำตามกฎเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนของพวกเขาได้

3. การบังคับใช้ข้อตกลง - ทั้ง 2 ฝ่ายยังตัดสินใจไม่ได้ว่า ข้อตกลงที่พวกเขาเห็นชอบร่วมกันจะถูกบังคับใช้อย่างไรในอนาคต และจะเกิดอะไรขึ้น หากมีฝ่ายใดฝ่าฝืน โดย EU อาจไม่มีอำนาจที่จะลงโทษ UK แต่เพียงฝ่ายเดียว พวกเขาจึงต้องการระบบอนุญาโตตุลาการที่เข้มแข็ง เพื่อลงโทษ แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสิน และจะลงโทษอย่างไร

...

จะเกิดอะไรขึ้น หากเจรจาข้อตกลงล้มเหลว?

นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีอังกฤษ คาดว่า หากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิตได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็อาจทำให้ ‘การขนส่งข้ามพรมแดนปั่นป่วนอย่างหนัก’ รถบรรทุกกว่า 70% อาจไม่พร้อมสำหรับกฎหมายใหม่ที่ EU จะใช้กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รถบรรทุกกว่า 7,000 คัน อาจต้องเข้าคิวยาวที่เมืองเคนต์ เพราะการตรวจสอบที่มากขึ้น

ด้านเจ้าหน้าที่การแพทย์อาวุโสหลายคนเตือนว่า การไม่มีข้อตกลงกับ EU อาจกระทบต่อการจัดหายา ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยซัพพลายยาอาจลดลงไปถึง 60% และ 80% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำเข้ามาจากสหภาพยุโรปก็อาจกระทบด้วยเช่นกัน



การไม่มีข้อตกลงการค้ากับ EU จะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเสียหายอย่างหนัก เพราะจะสูญเสียตลาดปลอดภาษีในยุโรปไป แถมต้องเผชิญกำแพงภาษี ทำให้การส่งออกแข่งขันยาก และการนำเข้าแพงขึ้นด้วย แม้อังกฤษจะพยายามทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ อย่าง ญี่ปุ่น และแคนาดา แต่เนื่องจากพวกเขามีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าจาก EU คิดเป็น 43% และ 51% ตามลำดับ จึงหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้

คาดกันว่า สินค้ากลุ่มอาหารอาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะอาจเกิดการขาดแคลนสินค้าจากยุโรปชั่วคราวราว 1-2 เดือน ส่วนราคาจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร แต่สมาคมการค้าปลีกบริติช (British Retail Consortium) กำแพงภาษีจะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึง 3.1 พันล้านปอนด์

ขณะที่หน่วยงานตำรวจ และรัฐมนตรีของอังกฤษ เตือนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า การเบร็กซิตโดยไม่มีข้อตกลง จะทำให้สหราชอาณาจักร ถูกตัดขาดจากกลไกสำคัญในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของ EU จะได้รับความเสียหาย อังกฤษจำเป็นต้องบรรลุสนธิสัญญาความมั่นคงใหม่กับสหภาพยุโรป เพื่อรักษาการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจสากล และฐานข้อมูลข่าวกรองต่างๆ

...



นอกจากนั้น ตอนที่ UK เป็นสมาชิก EU พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ EU ทำไว้กับอีกกว่า 70 ประเทศโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อถอนตัวออกไป สหราชอาณาจักรก็ต้องไปทำการเจรจาการค้าใหม่ เพื่อให้การค้าเป็นไปอย่างเดิม โดยตอนนี้เจรจาไปกว่า 50 ประเทศแล้ว แต่ไม่น่าจะทำข้อตกลงกับทุกประเทศได้ทันสิ้นปีนี้

UK ยังพยายามเจรจากับประเทศที่ EU ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วยอย่าง สหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ

...

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลัง 1 ม.ค. 2564

แต่ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม ชาวสหราชอาณาจักรก็จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 ม.ค. 2564 เช่น ผู้คนที่คิดจะย้ายที่อยู่จาก UK ไป EU หรือในทางกลับกัน เพื่ออาศัย, ทำงาน หรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ จะไม่ได้รับอนุญาตโดยอัตโนมัติอีกต่อไปแล้ว

สหราชอาณาจักรจะใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองกับพลเมือง EU ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางจาก UK เข้าชาติสมาชิกสหภาพยุโรป จะได้เข้าแถวตรวจหนังสือเดินทางคนละแถวกับชาว EU นอกจากนี้ การทำการค้ากับสหภาพยุโรปจะต้องใช้เอกสารมากขึ้นอีก แต่ UK ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินอุดหนุนก้อนโตให้สหราชอาณาจักรเป็นประจำทุกปีอีกต่อไปแล้ว



ผู้เขียน: H2O

ที่มา: BBC, Independent