เมื่อพ่อค้าผันตัวมาเป็นนักการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพกนิสัยเสียบางอย่างของนักธุรกิจติดตัวมาด้วย ไม่ว่าจะเรื่องเจ้าคิดเจ้าแค้น หรือการที่แพ้ไม่เป็น ต้องให้เจ๊งกันไปข้าง

เหมือนอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ เพลานี้ ที่เดินเกมต่อสู้อย่างหนักในทุกช่องทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้ว่าหนทางจะดูเหมือนถูกปิดประตูตาย

จำนวนเสียงคณะผู้เลือกตั้งของ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต นำเกินเกณฑ์อยู่ที่ 306 เสียง และต่อให้ผลเกิดพลิกขึ้นมาในรัฐที่ทรัมป์โวยวายอย่างจอร์เจีย และวิสคอนซิน ทรัมป์ก็จะได้ คะแนนรวมเพิ่มมาเป็น 258 เสียง ยังไม่ถึงเกณฑ์ 270 เสียงอยู่ดี

หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว ทรัมป์รู้ดีอยู่แก่ใจว่าศึกรอบนี้ไม่มีทางได้ดังหวัง แต่กำลังเตรียมความพร้อมหลังพ้นจากอำนาจ ว่าอย่างน้อยตัวเองจะมี “มวลชนสนับสนุน” จำนวนมากที่เชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่า ทรัมป์ถูกกลั่นแกล้งปล้นชัยชนะ และสามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด?

สมมติฐานดังกล่าวแม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆเสียงจากข้าราชการวงในรัฐบาลต่างระบุว่า ทรัมป์กำลังอยู่ในโหมด “ล้างแค้น” เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก พากัน สมคบคิดต่อต้านกันอย่างฝังรากลึก จนเป็นเหตุให้ตนเองต้องสูญเสียบัลลังก์อำนาจทำเนียบขาวไปอย่างน่าหดหู่

โดยคนแรกที่ถูกนำขึ้น “แท่นประหาร” ปลดกลางอากาศผ่านทวิตเตอร์ คือ มาร์ค เอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ที่เคยออกตัวคัดค้านไอเดียของผู้นำสหรัฐฯ ในการใช้กองทัพเข้าปราบปรามการประท้วงสิทธิผิวสี แบล็ก ไลฟ์ส แมทเทอร์ และแย้งการถอนทหาร ออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายชูโรงของทรัมป์

...

ตามด้วย คริส เครบส์ ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงไซเบอร์ (Cisa) ของกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ หน่วยใหม่ที่ทรัมป์ เป็นคนอนุมัติก่อตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน หลังเว็บไซต์ซีซายืนยันว่าข้อกล่าวหาของทรัมป์เรื่องการเลือกตั้งไม่โปร่งใส มีการโกงเกิดขึ้น เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ ยังมี 2 บิ๊กเนม ที่มีข่าวว่ากำลังตกเป็นเป้าจะถูกปลดเช่นกัน คือ คริสโตเฟอร์ วเรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (FBI) ที่มีวาระดำรงตำแหน่งถึงปี 2570 แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการสั่งเด้งออกจากตำแหน่ง

มีเสียงซุบซิบกันว่า ทรัมป์ “ฉุนเฉียว” ที่เอฟบีไอ ไม่สามารถหาหลักฐานมาดิส-เครดิตโจ ไบเดนได้ แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลทรัมป์จะชี้เป้าให้ว่า ฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายอาจมี ผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาลต่างชาติต่างกับ ครั้งเหตุการณ์ “ฮิลลารี คลินตัน” ถูกถล่มช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งครั้งก่อน เรื่องการ ใช้อีเมลส่วนตัวทำงาน จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ศึกเลือกตั้ง 2559 พลิกโผ

ส่วนอีกรายคือ จีนา แฮสเพล ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (CIA) ที่กำลังถูกล็อกเป้าจากทรัมป์ เนื่องจากไม่ยอมปลดล็อกข้อมูลชั้นความลับ เกี่ยวกับกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2559 ที่ทรัมป์หมายมั่น ปั้นมือจะหยิบไปใช้ลบข้อครหาติดตัวมาตลอดระยะเวลาการบริหารบ้านเมือง

กระนั้น แหล่งข่าวรัฐบาลสหรัฐฯเผยว่า การปลดจีนาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะหล่อนเล่นการเมืองเป็น รู้จักที่จะสนับสนุนทรัมป์อย่างออกนอกหน้า อย่างการปรบมือผิดคิวในงานแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาของทรัมป์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าหากตัวเองโดนปลด อาจได้คนที่คุมไม่ได้มาแทน ทั้งไม่ได้ตามใจจนเคยตัว อย่างเรื่องการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลชั้นความลับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายในตอนนี้กังวลกันอย่างหนัก คือเรื่องทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และเตรียมการที่จะโอนถ่ายอำนาจ เพราะนั่นหมายความว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะยังไม่สามารถเข้าถึง“ข้อมูลข่าวกรองความมั่นคง” ที่ผู้เป็นประธานาธิบดีจะได้รับการบรรยายสรุปรายวัน

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ทีมทำงานของไบเดน ก็จะประสบกับงานพอกหางหมู ทั้งเกิดความเสี่ยงที่จะถูกขั้วอำนาจต่างชาติ ฉวยโอกาสใช้ช่วง “สุญญากาศอำนาจ” ดำเนินการใดๆที่เป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกา

ในอดีต คณะกรรมาธิการความมั่นคงสหรัฐฯเคยมีการลงความเห็นไว้ว่าความล่าช้า ของการโอนถ่ายอำนาจจากรัฐบาล “บิล คลินตัน” สู่รัฐบาล “จอร์จ ดับเบิลยู บุช” หลังการเลือกตั้ง พ.ย.2543 เนื่องจากต้องใช้ศาลฎีกาชี้ขาดผลคะแนนในรัฐฟลอริดา อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 9/11 ในปี 2544 กลุ่มก่อการร้ายจี้เครื่องบินขับพุ่งชนตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ก ก็เป็นได้

ดังนั้น เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ เป็นเกมยื้ออำนาจที่ลุ่มลึกเหนือชั้น หรือเป็นเพียงแค่การจุดไฟเผาบ้าน ไม่เหลือไว้ให้ใคร คงมีเพียงโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้นที่จะให้คำตอบ.

วีรพจน์ อินทรพันธ์