เมื่อวันที่ 22 ต.ค. กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซกล่าวว่าพื้นที่ป่าไม้ในอินโดนีเซียที่ใหญ่กว่าขนาดของเนเธอร์แลนด์ถูกเผาวอด โดยร้อยละ 30 ของไฟป่าเกิดจากอุตสาหกรรมกระดาษและสัมปทานน้ำมันปาล์ม จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นทางการพบว่ามีพื้นที่ 4.4 ล้านเฮกตาร์ (27 ล้านไร่) ถูกไฟป่าเผาผลาญในช่วงปี 2558 ถึง 2562 โดยพื้นที่ขนาด 1.3 ล้านเฮกตาร์ (8.1 ล้านไร่) อยู่ในเขตสัมปทาน
อินโดนีเซียมีป่าไม้ที่ใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากอเมซอนและคองโก เป็นป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่ ที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็วซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพแล้วที่สำคัญคือยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานยังระบุอีกว่า บริษัทผลิตปาล์มน้ำมัน 8 ใน 10 แห่งที่มีพื้นที่เกิดไฟไหม้มากที่สุดในพื้นที่สัมปทานของพวกเขาในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ ยังไม่เคยได้รับการลงโทษใดๆ ขณะที่อินโดนีเซียได้ออกกฎหมายการสร้างงานใหม่ โดยกล่าวว่ากฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการลงทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจให้เอื้อต่อการจ้างงาน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ และกังวลว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โดยระบุว่าเขตสงวนธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้ภายใต้กฎหมายใหม่
กฎหมายก่อนหน้านี้กำหนดให้หมู่เกาะอินโดนีเซียมีป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ โดยข้อกำหนดนี้ถูกยกเลิกทำให้เกิดความกังวลว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตกระดาษ และบริษัทเหมืองแร่อาจขยายการทำลายพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ว่าจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสวนน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่จะสูญเสียป่าธรรมชาติภายใน 20 ปี ด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปหาแนวทางแก้ไขอย่างถาวรเพื่อป้องกันไฟป่าประจำปี
...
อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและแร่นิกเกิลสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่สุดของโลก หากป่าถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการผลิตออกซิเจนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศสุดขั้วย่อม หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่ามนุษย์อย่างเราได้รับ ผลกระทบจากการกระทำของพวกเราเองเต็มๆ.
อมรดา พงศ์อุทัย