นักวิทยาศาสตร์พบคำตอบแล้วว่า ไซยาไนแบคทีเรีย คือต้นเหตุที่ทำให้ช้างบอตสวานาตายเป็นเบือกว่า 330 ตัวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า หลังจากมีการพบช้างแอฟริกาในบอตสวานา ตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนหลายร้อยตัว บริเวณ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โอคาวังโก ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามหาสาเหตุมาตลอด โดยตัดความเป็นไปได้เรื่องการล่าสัตว์ออกไป เนื่องจากงายังอยู่ที่ซากช้าง และในที่สุดพวกเขาก็ได้คำตอบ
ผลการทดสอบในห้องแล็บพิเศษในแอฟริกา, แคนาดา, ซิมบับเว และสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมายืนยันว่า มีช้างทั้งหมด 330 ตัวที่ตายจากการกิน ไซนาโนแบคทีเรีย สาหร่ายขนาดเล็กที่อยู่ในน้ำ เข้าไป หลังจากตอนแรกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังกังขาว่า ช้างกลุ่มนี้ตายเพราะไซยาโนแบคทีเรียจริงหรือไม่ เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้จะอยู่บริเวณขอบบ่อน้ำ แต่ช้างมักจะกินน้ำจากบริเวณกลางบ่อ
นายเอ็มมาดี รูเบน สัตวแพทย์จากกรมอุทยานและสัตว์ป่าแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.ย. 2563 ว่า ผลการทดสอบล่าสุดพบ พิษต่อระบบประสาทที่ผลิตโดยไซยาโนแบคทีเรียทั้งในตัวช้าง และในบ่อน้ำ นอกจากนี้ การตายของช้างก็หยุดลงในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งตรงกับตอนที่บ่อน้ำในจุดเกิดเหตุเริ่มแห้งพอดี
อย่างไรก็ตาม นายรูเบน บอกกับสื่อว่า การตายของช้างครั้งนี้ยังมีคำถามเหลืออยู่อีกมาก “เรามีคำถามมากมายที่ยังต้องการคำตอบ เช่น ทำไมจึงมีแต่ช้างที่ตาย และทำไมเหตุจึงเกิดในบริเวณนั้นเท่านั้น เรามีสมมติฐานจำนวนหนึ่ง แต่เรากำลังตรวจสอบอยู่”
ทั้งนี้ ไซยาโนแบคทีเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ถูกพบทั่วโลกโดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และนิ่งสงบ บางสายพันธ์ุสามารถผลิตสารพิษที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสัตว์และมนุษย์ ทำให้เกิดอาการป่วยอย่างเช่น ระคายเคืองผิว, ปวดท้อง, อาเจียน, คลื่นเหียน, ท้องร่วง, มีไข้, เจ็บคอ และ ปวดหัว
...