เอกสารลับ FinCEN Files ที่รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะ แฉ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกบางเจ้า ยอมให้อาชญากรโยกย้ายเงินสกปรกไปทั่วโลก
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า เอกสารลับ 2,657 ฉบับที่รั่วไหลออกมาจาก ‘เครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐฯ’ (FinCEN: ฟินเซน) ซึ่งในจำนวนนี้เป็น ‘รายงานกิจกรรมน่าสงสัย’ (SAR) กว่า 2,100 ฉบับ เปิดเผยให้รู้ว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกยอมให้อาชญากรโยกย้ายเงินไปทั่วโลกอย่างไร และผู้มีอำนาจในรัสเซียใช้ธนาคารต่างๆ ในการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรไม่ให้ส่งเงินเข้าสู่ชาติตะวันตกอย่างไร
เอกสาร SAR กว่า 2,100 ฉบับ ถูกส่งจากธนาคารต่างๆ ให้แก่ ฟินเซน ซึ่งเป็นหน่วยงานต่อต้านการก่ออาชญากรรมทางการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระหว่างปี 2543-2560 เพื่อแจ้งความกังวลเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่น่าสงสัย ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ SAR ไม่ได้เป็นหลักฐานการกระทำผิดหรือการก่ออาชญากรรม ซึ่งเดิมทีแล้วเอกสารเหล่านี้จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับอย่างมิดชิด
อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวรั่วไหลไปยังสำนักข่าว ‘บัซซ์ฟีด นิวส์’ (Buzzfeed News) และมีการแชร์กันระหว่างกลุ่ม ซึ่งดึงดูดนักข่าวสืบสวนจากทั่วโลกเข้ามา และแจกจ่ายเอกสารเหล่านี้ไปยังองค์กรสื่อ 108 แห่งใน 88 ประเทศทั่วโลก รวมถึง โครงการ ‘พาโนรามา’ ของบีบีซี กลายเป็นกรณีเอกสารลับรั่วไหลที่ได้สมญาว่า ‘FinCEN Files’ โดยพวกเขาค้นพบกิจกรรมที่ธนาคารหลายแห่งไม่อยากให้สังคมรู้
...
ในการทำกำไรขององค์กรอาชญากรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีเส้นทางการฟอกเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการนำเงินสกปรกที่ได้จากการก่ออาชญากรรมอย่าง ค้ายาเสพติด หรือคอร์รัปชัน เข้าสู่บัญชีธนาคารที่น่าเชื่อถือ และไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับอาชญากรรมดังกล่าว และเป็นกระบวนการเดียวกับที่ ผู้มีอำนาจในรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร ใช้เพื่อนำเงินของตัวเองไปเข้าสู่ชาติตะวันตกด้วย
ธนาคารต่างๆ ควรทำให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้ช่วยเหลือลูกค้าในการฟอกเงิน หรือโยกย้ายเงินอย่างละเมิดกฎหมาย และตามที่กฎหมายบัญญติ พวกเขาต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร และพวกเขาควรหยุดการโยกย้ายเงิน ไม่ใช่ทำแค่ส่งเอกสาร SAR แล้วรับเงินสกปรกจากลูกค้าต่อไป และรอให้ทางการเข้ามาแก้ปัญหา
นายเฟอร์กุส ชีเอล จากสมาคมนักข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (ICIJ) ระบุว่า FinCEN Files เผยให้เห็นเบื้องลึกว่าธนาคารรู้อะไรเกี่ยวกับการไหลเวียนของเงินสกปรกทั่วโลกบ้าง และยังเน้นให้เห็นเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเอกสารที่รั่วไหลออกมาครอบคลุมการทำธุรกรรมมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเอกสาร SAR ที่ถูกส่งไปในช่วงเวลาดังกล่าว
FinCEN Files แฉว่า ธนาคาร ‘HSBC’ ของอังกฤษ ยอมให้นักต้มตุ๋นโยกย้ายเงินหลายล้านดอลลาร์ที่ขโมยมาไปทั่วโลก แม้จะได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ แล้วก็ตาม ขณะที่ธนาคาร ‘เจพี มอร์แกน’ ยอมให้บริษัทแห่งหนึ่งโอนเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านบัญชีธนาคารลอนดอน โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ก่อนจะพบภายหลังว่า บริษัทดังกล่าวอาจเป็นของสมาชิกแก๊งซึ่งอยู่ในบัญชี 10 อาชญากรที่ เอฟบีไอ ต้องการตัวมากที่สุด
เอกสารที่รั่วออกมายังมีหลักฐานชี้ว่า หนึ่งในคนใกล้ชิดที่สุดของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใช้ธนาคาร ‘บาร์เคลย์ส’ ในลอนดอน ในการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร ซึ่งจะหยุดไม่ให้เขาใช้บริการทางการเงินในชาติตะวันตกได้ โดยเงินสดจำนวนหนึ่งถูกใช้ซื้อผลงานศิลปะ
เอกสารจากแผนกข่าวกรองของ ฟินเซน เรียก สหราชอาณาจักรว่า ‘ขอบเขตอำนาจความเสี่ยงสูง’ (high risk jurisdiction) เช่นเดียวกับไซปรัส เพราะจำนวนบริษัทของอังกฤษที่ปรากฏในเอกสาร SAR มีมากกว่า 3,000 ชื่อ มากกว่าประเทศอื่นๆ
ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้มเหลวในการแจ้งเตือน เรื่องบริษัทท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่าน หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร ส่วน ‘ดอยซ์ แบงก์’ (deutsche bank) ธนาคารใหญ่ที่สุดในเยอรมนี โยกย้ายเงินสกปรกให้องค์กรอาชญากรรม, ผู้ก่อการร้าย และ ผู้ค้ายาเสพติด และธนาคาร ‘สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์’ โยกย้ายเงินให้ ‘อาหรับ แบงก์’ มานานนับทศวรรษ หลังจากบัญชีของลูกค้าธนาคารจอร์แดนแห่งนี้ ถูกใช้เพื่อเป็นทุนให้แก่ผู้ก่อการร้าย
ทั้งนี้ การรั่วไหลของ FinCEN Files แสดงให้เห็นขอบเขตของกิจกรรมน่าสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ หลายบริษัทและบุคคล รวมทั้งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เหตุใดธนาคารที่รู้ถึงกิจกรรมเหล่านี้ จึงไม่ยอมจัดการใดๆ
ฟินเซน ระบุว่า การรั่วไหลครั้งนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ, ขัดขวางการสืบสวน และคุกคามต่อความปลอดภัยของสถาบันและบุคคลต่างๆ ที่ยื่นเอกสาร SAR อย่างไรก็ตาม ฟินเซนประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พวกเขาจะยกเครื่องโครงการต่อต้านการฟอกเงินใหม่ทั้งหมด ขณะที่สหราชอาณาจักร วางแผนจะปฏิรูป การลงทะเบียนข้อมูลบริษัท เพื่อจำกัดการฉ้อโกงและฟอกเงินด้วย
...