กลายเป็นภัยเงียบ สำหรับสารตะกั่วที่ถูกพบเป็นอย่างมากในเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้เปิดเผยรายงานที่ทำร่วมกับองค์การ "เพียว เอิร์ธ" (Pure Earth) พบว่าเด็กกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกหรือคิดเป็นเด็ก 1 ใน 3 มีสารตะกั่วอยู่ในเลือดมากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อ 1 เดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และเป็นอันตรายต่อสมองของเด็กๆจนไม่สามารถเยียวยาได้ โดยปริมาณสารตะกั่วที่มากจะมีผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้รับรู้ของเด็ก โดยในรายงานระบุว่าเด็กที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณดังกล่าวทำคะแนนวัดความฉลาดได้น้อยกว่าคนทั่วไป 3 ถึง 5 คะแนน
เจ้าหน้าที่ขององค์การยูนิเซฟ ระบุว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากที่โลกอาจจะเผชิญกับปัญหาด้าน "ไอคิว" หรือความฉลาดทางปัญญา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะประเทศโลกที่ 3 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งในรายงานระบุว่ากลุ่มคนที่ได้รับสารตะกั่วเป็นปริมาณมากนับตั้งแต่เด็กส่งผลให้รายได้รวมกันลดลงกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุอีกว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถือเป็นกลุ่มที่อันตรายมากเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายในช่วงอายุดังกล่าวสามารถซึมซับสารตะกั่วได้ดีกว่าในช่วงอายุอื่นๆ และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่าเด็กที่ได้รับสารตะกั่วจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและสมาธิสั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยกล่าวว่า "สารตะกั่วเป็นภัยเงียบในตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อเด็กรุ่นใหม่ที่ควรจะมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมากกว่านี้"
...
โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้รับสารตะกั่วจากเหมืองตะกั่วหรือท่อประปา รวมไปถึงการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดและคิดเป็นร้อยละ 85 มาจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ที่ผิดวิธี โดยการรีไซเคิลที่ถูกวิธีนั้น จำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่ถูกต้องและการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีรายงานเป็นจำนวนมากว่ามีโรงงานลักลอบรีไซเคิลแบตเตอรี่ ส่งผลให้สารตะกั่วรั่วไหล ทั้งนี้มีรายงานว่าประชาชนจำนวนหนึ่งไม่รู้ถึงอันตรายของสารตะกั่วและใช้ชีวิตตามปกติอย่างไม่ระมัดระวัง
ทางองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ประชาชนสามารถลดระดับสารตะกั่วในเลือดได้ในอนาคต แต่ทางองค์การไม่สามารถซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นไปกับร่างกายและสมองไปแล้ว.