จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด "ลองมาร์ช-5" ส่งยานสำรวจดาวอังคาร ประกาศความยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ

(23 กรกฎาคม) เวลา 11.41 น. ตามเวลาในไทย จีนปล่อยจรวด "ลองมาร์ชไฟฟ์-วายโฟร์" (Long March-5 Y4) บรรทุกยานสำรวจดาวอังคาร ตามโครงการเทียนเหวิน-1 ขึ้นจากฐานปล่อยจรวด ที่ศูนย์อวกาศเหวินชาน ในมณฑลไหหนาน ทางตอนใต้ของจีน 

ยานเทียนเหวิน-1 ประกอบไปด้วยภารกิจ 3 ส่วน ได้แก่ การเข้าสู่วงโคจร ลงจอดที่พื้นผิวดาวอังคาร และปล่อยยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารออกมา จากนั้นจะอยู่บนดาวอังคารเป็นเวลา 3 เดือนดาวอังคาร (เท่ากับ 92 วันโลก) บนสภาพพื้นผิว โครงสร้างทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของดาวอังคาร และจะส่งสัญญาณข้อมูลสิ่งที่ค้นพบกลับมายังโลก

ยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิว มีน้ำหนักรวมกัน 1,300 กิโลกรัม เมื่อถึงชั้นบรรยากาศดาวอังคารแล้ว จะถูกปล่อยออกจากยานแม่แล้วลงจอดสู่พื้นผิวดาวอังคารด้วยร่มชูชีพ ในส่วนของยานสำรวจมีความสูง 1.85 เมตร น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ภารกิจค้นหาแหล่งน้ำและสัญญาณอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

...

โดยยานสำรวจติดตั้งอุปกรณ์ล้ำสมัยอย่างน้อย 6 ชิ้นรวมไปถึงกล้องธรณีวิทยา กล้องมัลติสเปกตรัมเรดาร์ตรวจจับใต้ผิวดิน และอุปกรณ์ตรวจจับสภาพอากาศ

นายหลิว ตงเจี๋ย รองผู้อำนวยการศูนย์อวกาศ แห่งสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ความท้าทายคือ เมื่อยานลงจอดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ก็จะต้องลดระดับความเร็วจาก 20,000 กิโลเมตร ในระยะเวลาเพียง 7 นาทีเพื่อที่จะลงจอดบริเวณพื้นผิว โดยจะต้องมีการสแกนตรวจหาจุดปลอดภัยในการลงจอด

เทียนเหวิน-1 ตั้งชื่อตามบทกวีโบราณเก่าแก่กว่า 2,000 ปีของจีน โดยภารกิจสำรวจดาวอังคาร แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของจีน หลังจากจีนประสบความสำเร็จปล่อยดาวเทียมดวงแรก คือ ตงเฟิงหง-1 หรือ บูรพาแดง-1 เมื่อปี 2513.