ข้อสงสัยที่ว่า “หน้ากากอนามัย” ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น เมื่อสองผู้นำประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สวมหน้ากากอนามัยออกงานสาธารณะเป็นครั้งแรก
เป็นแบบอย่าง หรือโรล โมเดล ที่สาธารณะต้องหันมาสนใจด้วย
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ค้านสุดเสียงบอกไม่คิดจะสวม ส่วนใครที่สวมมักถูกทรัมป์ล้อเลียน
ส่วนอังกฤษเพิ่งเข้มงวดสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดือน มิ.ย. รวมทั้งเพิ่งบังคับให้สวมเมื่อไปซื้อของ
โดยภาพรวมทั่วโลก หลายประเทศหรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตอนแรกเห็นว่าหน้ากากอนามัยใช้สวมป้องกันการระบาดของไวรัสมรณะไม่ได้ผล ก่อนหันมาแนะนำว่าควรสวมในสถานที่ปิด และหลายประเทศเริ่มออกเป็นมาตรการบังคับตามกฎหมาย
ข้อมูลจาก “Mask4All” กลุ่มรณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยทำมือหรือทำใช้กันเอง ระบุว่า ณ ช่วงกลางเดือน มี.ค. มี 10 ประเทศแนะนำให้ใช้ผ้าปกปิดใบหน้าหรือหน้ากากอนามัย ตอนนี้มี 130 ประเทศ กับอีก 20 รัฐทั่วสหรัฐฯที่แนะนำให้คนสวม
ขณะที่ “Royal Society” องค์กรด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำในอังกฤษ ให้เหตุผลคนหันมาสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้นเป็นเพราะทัศนคติของสาธารณะเริ่มเปลี่ยน เข้าใจลักษณะการแพร่ระบาดกันดีขึ้น หลายประเทศที่ไม่เคยใส่ใจมาก่อน อย่าง อิตาลี สหรัฐฯ และ สเปน ต่างหันมาสนับสนุนให้สวมหน้ากากอนามัยกัน
...
กรณีของ WHO เบื้องต้นแนะนำว่าควรสวมหน้ากากอนามัยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีอาการ อย่างไอหรือจาม ก่อนมาปรับท่าทีเปลี่ยนคำแนะนำเมื่อเดือน มิ.ย.หลังเริ่มมีหลักฐานว่าผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ขณะเดียวกัน เริ่มมีการตระหนักรู้ว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อสูงในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดีและมีหลักฐานว่าไวรัสอาจแพร่ระบาดโดยละอองฝอยปนเปื้อนเชื้อไวรัสแขวนลอยในอากาศ
และนี่จึงเป็นที่มาของการที่ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยและต้องให้ความสำคัญพอๆกับการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์และการรักษาระยะห่างทางสังคม...อย่าเพิ่งการ์ดตกกัน!
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์
เปรียบเทียบราคาทุกร้าน >>> คลิกที่นี่