วงการแพทย์ญี่ปุ่นเปิดใจรับนิวนอร์มอล เปิดโอกาสให้แพทย์ตรวจคนไข้และรักษาทางไกลผ่านระบบออนไลน์ แก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล รับยุคโควิด-19
นิวนอร์มอลคำที่คุ้นหูกันดีในยุคการระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนทั้งโลกต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงทางการแพทย์ที่ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยบริษัทเอกชนหลายแห่งในญี่ปุ่นในตอนนี้ต่างเร่งพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับยุคสมัย
การรักษาพยาบาลทางไกลเช่นนี้นับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากเดิมทีทางการญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้มีการรักษาพยาบาลทางไกลได้ในการพบแพทย์ครั้งแรก ยกเว้นกรณีที่เป็นการติดตามอาการที่เคยมาตรวจแบบเจอหน้ากันแล้วเท่านั้น รวมทั้งยังมีข้อจำกัด เนื่องจากวิธีการรักษาทางไกลแบบนี้จะสามารถใช้ได้กับการตรวจรักษาเพียงแค่ไม่กี่โรค
แต่หลังจากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อรักษาพยาบาลได้ จนทำให้ทางการต้องยอมผ่อนปรนกฎข้อบังคับดังกล่าวเป็นครั้งแรก ทำให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยครั้งแรกผ่านทางออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงทีมากขึ้น ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ทางการญี่ปุ่นทั้งในแง่ของยอดจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นมากจากสังคมผู้สูงอายุ และจำนวนแพทย์ที่ยังขาดแคลนในพื้นที่ชนบทในอนาคตด้วย
...
นายแพทย์โซ อิชิ เจ้าของคลินิกในกรุงโตเกียว ซึ่งเริ่มให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพผ่านทางไกลมาตั้งแต่ปี 2560 ระบุว่า การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านทางออนไลน์เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีคนไข้เข้ามาใช้บริการมากถึง 600 คน ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน เปรียบเทียบกับสองเดือนก่อนหน้าที่มีคนไข้มาใช้บริการ 400 คน โดยเขามองว่าการปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบทางไกล จะนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเคสที่คนไข้ต้องมีการรักษาต่อเนื่องอย่างเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เพราะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ง่ายขึ้น
ด้านบริษัท เมดเลย์ อินท์ และไมซิน อินท์ บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน "คลินิกส์" เพื่อให้บริการนัดหมายแพทย์และบริการการรักษาพยาบาลทางไกลแก่คนไข้ โดยแพทย์จะสามารถพบหน้าผู้ป่วยผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ทางออนไลน์เพื่อตรวจรักษาอาการเบื้องต้น รวมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวให้แก่ผู้ป่วยโดยที่ไม่ต้องพบหน้ากันตัวต่อตัว เพื่อตอบสนองกับความต้องการในเวลานี้
ขณะที่ นายชินิชิโระ มุโรยามะ ตัวแทนผู้อำนวยการไลน์ เฮลท์ แคร์ระบุว่า ไลน์ คอร์ป เตรียมแผนที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจ ไลน์ เฮลท์แคร์ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ แอปพลิเคชันไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นถึง 84 ล้านคน จึงกำลังพยายามหาทางจะเชื่อมต่อแพทย์กับผู้ป่วยผ่านทางวิดีโออยู่
ทั้งนี้ สถาบันวิจัย ยาโนะ ได้คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านสุขภาพผ่านทางออนไลน์แบบนี้จะมีโอกาสเติบโตได้ถึงร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่าถึงเกือบ 20,000 ล้านเยน หรือราว 5,800 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพบว่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 15 ของสถาบันการแพทย์ของญี่ปุ่นที่มีอยู่ราว 16,100 แห่ง เริ่มมีการให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกลแล้ว ซึ่งนับว่ามีอัตราที่เพิ่มขึ้นมากจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ที่มีสถาบันการแพทย์ให้บริการทางออนไลน์เพียง 970 แห่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ยังไม่ได้พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการพบแพทย์ทางออนไลน์จะเปลี่ยนไปอย่างถาวรหรือไม่ เนื่องจากสมาคมการแพทย์แห่งชาติยังคงไม่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้มากนัก เพราะยังมีความกังวลว่าจะเกิดการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดหากไม่มีการวินิจฉัยแบบเจอตัวคนไข้
นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากแพทย์อีกส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่าการพบแพทย์ทางไกลน่าจะเหมาะสมกว่าเมื่อเป็นการตรวจรักษาต่อเนื่อง หลังจากคนไข้เคยตรวจวินิจฉัยกับแพทย์มาแล้ว หรือเป็นกรณีที่คนไข้ต้องการความคิดเห็นที่สอง เนื่องจากประสบปัญหาไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแม้การรักษาทางไกลจะไม่สามารถแทนที่การรักษาแบบพบหน้ากันได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาทางไกลจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
...