นักดาราศาสตร์สุดประหลาดใจ ดาวทั้งดวงในกาแล็กซีแคระคินแมน ห่างจากโลก 75 ล้านปีแสง หายไปอย่างปริศนาไร้ร่องรอย

วันที่ 30 มิ.ย. สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว นายแอนดริว อัลลัน นักศึกษาปริญญาเอกของวิทยาลัยทรินิตี้ ในกรุงดับลิน ของไอร์แลนด์ ศึกษาดาวขนาดใหญ่ในกาแล็กซีแคระคินแมน ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ที่อยู่ห่างไป 75 ล้านปีแสง แต่พอใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง Very Large Telescope (VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป European Southern Observatory (Eso) ส่องดูกลับไม่พบสัญญาณใดๆ ที่แสดงถึงการมีอยู่ของดาวดวงนี้แล้ว 

อัลลันกล่าวว่า ทุกคนรู้สึกตกใจมากที่พบว่าดาวดวงนั้นหายไป ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกที่ดาวขนาดใหญ่ทั้งดวงจะหายไป หรือสิ้นอายุขัยแล้วเกิดการยุบตัวเป็นหลุมดำโดยที่ไม่เหลือร่องรอยของซุปเปอร์โนวา

ดาวดวงนี้เป็นดาวขนาดใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มดาวแปรแสงสีฟ้าส่องสว่าง (Luminous Blue Variable) หรือ LBV มีความสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2.5 ล้านเท่า อยู่ห่างไป 75 ล้านปีแสงในกาแล็กซีแคระคินแมน ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

เบื้องต้นเชื่อว่าอาจจะสิ้นอายุขัยแล้วยุบตัวเป็นหลุมดำโดยไม่มีการระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาให้เห็นร่องรอยแสงสว่าง ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ก็จะนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก และนับเป็นครั้งแรกที่พบการสิ้นสุดอายุขัยของดวงดาวขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้ หรืออีกทฤษฎีหนึ่งคือบางส่วนของดาวอาจถูกฝุ่นบดบังแสง

ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2544 และ 2554 นักดาราศาสตร์หลายทีมได้ศึกษาดาวขนาดใหญ่ในกาแล็กซีแคระคินแมน ซึ่งอยู่ในระยะสุดท้ายของวิวัฒนาการ แต่เนื่องจากเป็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลออกไปมาก ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่สามารถระบุดาวทุกดวงได้อย่างเฉพาะเจาะจง มีเพียงบางดวงเท่านั้นที่สามารถตรวจพบได้ถึงสัญญาณการมีอยู่ของมัน

...

นักดาราศาสตร์ระบุว่า จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากในอนาคตเพื่อยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้ โดยในปี 2568 กล้องโทรทรรศน์ขนาดมโหฬาร Extremely Large Telescope (ELT) ของ Eso จะเริ่มเปิดใช้งานได้ และจะมีการศึกษากาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลออกไป อย่างกาแล็กซีแคระคินแมน เมื่อถึงเวลานั้นปริศนาทุกอย่างอาจจะคลี่คลาย.