สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาเมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 หลังจากชนะสงครามกลางเมืองจีน (ค.ศ.1946-1949) ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ปกครองพื้นที่ 9.5 ล้านตารางกิโลเมตร รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์รวบรวมประชากรต่างเผ่าพันธุ์ไว้มากมายถึง 56 กลุ่มรวมทั้งชนกลุ่มน้อยเผ่าทิเบตซึ่งส่วนใหญ่มีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ในที่ราบสูงชิงจั้ง เขตปกครองตนเองทิเบต และเขตปกครองตนเองทิเบตมองโกล มณฑลชิงไห่ เช่น เมืองหายเป่ย หวงหนาน ห่ายหนาน กว่อลั่ว และยวี่ซู่
ปลายสมัยสุย ต้นสมัยถัง หัวหน้าชนเผ่า (ซีปู๋เหย่) รวมแคว้นน้อยใหญ่ในทิเบตเป็นอาณาจักรและตั้งเมืองหลวงที่หลัวซัว (ปัจจุบันคือลาซา) ต่อมาขุนนางและประชาชนยกให้ซงจ้านกานปู้เป็นกษัตริย์ครองราชอาณาจักร
ต่อมา ซงจ้านกานปู้ขออภิเษกกับองค์หญิงเหวินเฉิง ธิดาของจักรพรรดิถังไท่จง กษัตริย์ทิเบตจึงมีศักดิ์เป็นราชบุตรเขยของราชวงศ์ถัง หลังจากพระเจ้าถังเกาจงขึ้นครองราชย์ แผ่นดินราชวงศ์ถังและทิเบตก็มีฐานะเป็นเมืองอาเมืองหลาน ซงจ้านกานปู้เรียกถังเกาจงว่า โอรสสวรรค์
ค.ศ.822 ราชสำนักถังและทิเบตรวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน ตั้งหลักศิลาแห่งอาณาจักรขึ้นที่หน้าวัดต้าเจา เมืองลาซา ทิเบตกับจีนเป็นอาณาจักรญาติที่มิอาจแยกจากกันได้ และเป็นรากฐานของการปกครองจีนที่มีหลายชนชาติมารวมเป็นหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
อินเดียได้รับเอกราชเมื่อ 15 สิงหาคม 1947 มีพื้นที่ 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ทางเหนือมีที่ราบสูงเดกกันของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ-คงคา และทางใต้ ดินแดนที่มีปัญหาขัดแย้งมักเป็นทางตอนเหนือ ทั้งกับปากีสถานและจีน
ก่อนหน้านี้ ซีไอเอให้การสนับสนุนอาวุธ การเงิน และการฝึกฝนผู้คนให้ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจีน จนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1959 รัฐบาลจีนส่งกำลังเข้าปราบปราม ทำให้องค์ดาไลลามะต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ธรรมศาลาของอินเดีย ตั้งแต่นั้นมา อินเดียกับจีนก็กินแหนงแคลงใจกันรุนแรง
...
ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของจีนโดยขบวนการเรียกร้องเอกราชในทิเบต จีนก็มักจะกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากสหรัฐฯและอินเดีย เมื่อเกิดจลาจลในทิเบต อินเดียสนับสนุนทิเบตและให้ที่ลี้ภัยแก่องค์ดาไลลามะ จากนั้นก็มีนโยบายวางทหารตามแนวชายแดน อินเดียกับจีนมีชายแดนร่วมกันยาว 3,488 กิโลเมตร เมื่อ 20 ตุลาคม 1962 จีนโจมตีเมืองลาดักห์และเข้ายึดเมืองตามแนวชายแดนในภาคตะวันตกและตะวันออก สงครามจบเมื่อ 20 พฤศจิกายน 1962 โดยจีนประกาศพักรบและถอนตัวจากพื้นที่พิพาท
มีนาคม 1988 การเดินขบวนของชาวทิเบตในเมืองลาซาขยายตัวเป็นการจลาจลและมีคนเสียชีวิต พรรคและรัฐบาลจีนจึงต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดในทิเบต โดยกำหนดสเปกว่าผู้นำคนใหม่ต้องหนุ่ม มีวิสัยทัศน์ เก่งการทำงานร่วมกับชนกลุ่มน้อย และมีความสุขุมนุ่มลึกพอที่จะจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียได้
13 ตุลาคม 1988 หูจิ่นเทาได้รับคำสั่งให้ไปเมืองลาซา เพื่อรู้จักทิเบตและทดสอบความอดทนของร่างกายและจิตใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงได้รับคำสั่งให้กลับมามณฑลกุ้ยโจว เพื่อมอบหมายงานให้กับผู้นำกุ้ยโจวคนใหม่ ตามด้วยคำสั่งใหม่ให้ไปเป็นผู้นำทิเบต หูจิ่นเทาบูรณะศาสนาพุทธและวัดวาอารามในทิเบตและบริหารความขัดแย้งกับอินเดียได้เป็นอย่างดีหูจิ่นเทาคนเดียวกันนี่แหละครับ ที่ต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีจีนต่อจากเจียงเจ๋อหมิน ยุคของหูจิ่นเทา (ค.ศ.2003-2013) ความขัดแย้งตามแนวชายแดนจีน-อินเดียมีน้อยมาก
15 มีนาคม ค.ศ.2013 จีนเข้าสู่ยุคสีจิ้นผิง ยุคนี้จีนผงาดจนจะกลายเป็นเจ้าโลก สร้างความหนักใจให้กับประเทศใหญ่หลายแห่ง จีนเริ่มมีปัญหากับประเทศโน้นชาตินี้บ่อยขึ้น
15 มิถุนายน 2020 ทหารจีนและอินเดียกระทบกระทั่งกันบริเวณหุบเขาในพื้นที่อักไซชินฝั่งลาดักห์ มีการใช้ท่อนเหล็กและก้อนหินเป็นอาวุธ ทำให้ในขณะนี้มีตัวเลขความสูญเสียของฝ่ายอินเดียมากกว่า 20 นาย
ชาติใหญ่อย่าทะเลาะกันครับ แค่วิกฤติโควิด-19 โลกก็เครียดพออยู่แล้ว.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com