อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงสู่ค่าต่ำสุดรอบหลายสิบปี เพราะการล็อกดาวน์ควบคุมไวรัสโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะลดแค่ชั่วคราวเท่านั้น
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานในวันอังคารที่ 19 พ.ค. 2563 ว่า ผลการศึกษาระหว่างประเทศเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปี 2562 และคาดว่าจะลดลงอีก 4.4% ถึง 8% ในช่วงสิ้นปี ซึ่งจะเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสาร ‘Nature Climate Change’ โดยทำการศึกษาการปล่อยคาร์บอนฯ ใน 69 ประเทศ, 50 รัฐของสหรัฐฯ และ 30 มณฑลของจีน ซึ่งมีประชากรรวมคิดเป็น 85% ของประชากรโลก และมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 97% ของทั้งโลก
ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลจาก 6 ภาคส่วนของเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้ง การคมนาคม, การบิน, อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ร่วมกับดัชนีความรุนแรงของมาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละประเทศ เพื่อคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนในแต่ละวัน
พวกเขาพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนฯลดลงคือ คนออกมาขับขี่ยานพาหนะน้อยลง โดยจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ระดับกิจกรรมการคมนาคมภาคพื้นลดลง 50% ขณะที่การคมนาคมทางอาการลดลงถึง 75% แต่ภาคการบินมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อเทียบสถิติในแต่ละวันจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ทีมนักวิจัยคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลง 1,048 เมตริกตัน หรือราว 2,312,649 ปอนด์ ซึ่งการลดลงมากที่สุดเกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยลดลงราว 533,500 ปอนด์ ตามด้วยสหรัฐฯ 456,350 ปอนด์
...
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยย้ำว่า การคาดการณ์อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในระยะยาวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่แน่ชัดว่าการระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงหรือยาวนานแค่ไหน ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนฯ ลดลง ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานทางเศรษฐกิจ หรือพลังงานต่างๆ ที่โลกพึ่งพา การลดลงในครั้งนี้จึงน่าจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
“เราไม่สามารถดีใจกับการลดลงของอัตราปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เป็นผลจากการว่างงานและพฤติกรรมที่ถูกบีบบังคับได้” ดร.ร็อบ แจ็คสัน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยฉบับนี้ และศาสตราจารย์จากคณะระบบวิทยาศาสตร์โลก ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว “เราลดการปล่อยคาร์บอนฯ อย่างไม่ถูกต้อง”