เมื่อ 22 มี.ค. “วันน้ำโลก”-World Water Day สหประชาชาติกำหนดหัวข้อปีนี้ คือ “น้ำ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก”--Water and Climate Change มุ่งหวังให้ชาวโลกใช้ทรัพยากรน้ำในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด รวมถึงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดการก่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพชั้นบรรยากาศโลกลงได้อย่างมาก

รายงานว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรน้ำโลก 2020 ระบุผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับปริมาณและคุณภาพการใช้แหล่งน้ำของโลกด้วย ทั้งเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของชาวโลกจำนวนหลายพันล้านคน นอกจากนั้น แนวนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรก็จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เพราะการใช้ทรัพยากรน้ำโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ตลอดช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

ปัญหาเกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงด้วย ขณะเดียวกัน กระบวนการบำบัดน้ำเสียและรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ยังทำได้น้อยมาก โดยน้ำเสียถูกทิ้งสูญเปล่ายังมีมากถึงราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเริ่มการลงทุนในกระบวนการเปลี่ยนน้ำเสียนำมาเป็นแหล่งก๊าซมีเทนใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ จอร์แดน เม็กซิโก เปรู และประเทศไทย

ส่วนอุปสรรคขวางกั้นการใช้ทรัพยากรน้ำโลกอย่างมีประสิทธิภาพคือ ปัญหาความร่วมมือกันระหว่างประเทศ การเพิ่มการลงทุนจัดการทรัพยากรน้ำและการใช้ทรัพยากรน้ำสร้างพลังงานร่วมกับการใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เพราะทรัพยากรน้ำไม่ใช่ตัวปัญหา แต่น้ำคือส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหา

“วันน้ำโลก” ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 มุ่งให้ความสำคัญต่อแหล่งน้ำจืดของโลกและเพิ่มการตระหนักรับรู้แก่ชาวโลกถึงจำนวนผู้คนที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดปลอดภัยมีอยู่มากถึงราว 2,200 ล้านคน โดยสหประชาชาติตั้งเป้าหมายให้ชาวโลกทั้งมวลเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ภายในปี 2574.

...