แม้ไวรัสโควิด-19 จะยังไม่มียารักษา แต่วงการแพทย์ก็มีข่าวดี เมื่อหมอสามารถรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้หายได้เป็นรายที่ 2 ของโลกแล้ว

สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อ 10 มี.ค. 2563 ว่า ‘คนไข้ลอนดอน’ หรือนายอดัม คาสติลเลโย ชาวลอนดอนวัย 40 ปี กลายเป็นคนที่ 2 ของโลกที่ได้รับการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จนหายดี โดยร่างกายของเขายังปราศจากเชื้อ แม้ว่าจะหยุดรับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีมานานกว่า 30 เดือนแล้วก็ตาม

เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านวารสารการแพทย์ ‘Lancet HIV’ โดยนายคาสติลเลโยไม่หายเพราะยาต้านเอชไอวีเป็นหลัก แต่หายด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ที่เขาทำเพื่อรักษาโรงมะเร็ง โดยการปลูกถ่ายดังกล่าวดูเหมือนจะไปหยุดการลอกเลียนตัวของเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ด้วยการแทนที่เซลล์ภูมิคุ้มกันของคนไข้ด้วยเซลล์ผู้คุ้มกันของผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่สามารถต้านไวรัสเอชไอวีได้

ทั้งนี้ แพทย์ประกาศเรื่องการรักษานายคาสติลเลโยจนหายจากเชื้อเอชไอวีเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 ปีก่อน และจนถึงตอนนี้ ก็ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด, น้ำเชื้อ หรือเนื้อเยื่อของเขาเลย

ศาสตราจารย์ รวินทรา กุมาร กุปตา จากมหาวิทยาลับเคมบริดจ์ บอกกับบีบีซีว่า “เรื่องนี้แสดงให้เห็นวิธีการรักษา เอชไอวี ที่เกือบจะแน่นอนแล้ว ตอนนี้เรามีคนไข้ที่ปลอดเชื้อแม้ไม่ได้รับยาต้านรีโทรไวรัลนานถึง 2 ปีครึ่ง การค้นพบของเราแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในการรักษาเอชไอวีด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 9 ปีก่อนกับคนไข้เบอร์ลิน สามารถทำให้เกิดขึ้นอีกได้”

อย่างไรก็ตาม แพทย์ย้ำว่านี่ยังไม่ใช้วิธีรักษาสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีหลายล้านคนทั่วโลก เพราะเดิมที่วิธีการนี้ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งของคนไข้ทั้งสอง ไม่ใช่เอชไอวี และยากต้านเอชไอวีที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงมีประสิทธิภาพสูง หมายความว่า ผู้ที่ติดไวรัสตัวนี้สามารถมีชีวิตยืนยาวและแข็งแรงได้

...

“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำว่า วิธีรักษานี้มีความเสี่ยงสูง และควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขั้นอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น” ศ.กุปตา กล่าว อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็อาจเป็นความหวังให้เกิดวิธีรักษาด้วยยีนบำบัดในอนาคตก็เป็นได้