ใครที่โตมาในยุค 80s จะต้องรู้จักเครื่องสำอางแบรนด์ดังของอังกฤษอย่าง “The Body Shop” ที่ชูจุดขายเท่ๆต่อต้านการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์เป็นเจ้าแรกๆในโลก ภาพลักษณ์ดีขนาดที่ว่าได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของตลาดชั้นสูง และต้นแบบของนายทุนที่มีจริยธรรมสูงส่งในการทำธุรกิจ

สมัยยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่สร้างธุรกิจมาด้วยเงินกู้แค่ 4,000 ปอนด์ มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำตัวให้ดูน่ารัก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเต็มไปด้วยอุดมการณ์ แต่เมื่อ “The Body Shop” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน หลังดำเนินกิจการมาได้ 8 ปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงผลประกอบการนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องรักษ์โลกและความต้องการของผู้บริโภคกลายเป็นเรื่องรองๆไปทันที หรือบางครั้งก็แกล้งลืมไปซะอย่างงั้น

ในขณะที่เจ้าของรวยขึ้นตามราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น จนติดอันดับผู้หญิงรวยที่สุดเป็นอันดับสี่ของสหราชอาณาจักร แต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์กลับตกต่ำลงเรื่อยๆ ถึงกับโดนวิพากษ์วิจารณ์ยับว่า “The Body Shop” เปลี๊ยนไป๋ กลายเป็นพวกมือถือสากปากถือศีลไปซะแล้ว เรื่องนี้สร้างความเจ็บช้ำให้ “อนิตา ร็อดดิค” ผู้ก่อตั้งแบรนด์เป็นอย่างมาก ขนาดเอ่ยปากว่า ฉันไม่น่าเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นเลย

ตลอดทศวรรษ 1990s จึงเป็นช่วงที่น่าช้ำใจที่สุดของ “The Body Shop” เพราะแฟนๆที่มีหัวใจรักษ์โลกเริ่มรู้ทัน และพากันหนีไปใช้เครื่องสำอางแบรนด์อื่นๆที่มีความจริงใจกว่า ยิ่งซ้ำร้ายหนักขึ้นกว่าเดิม เมื่อค่ายเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส “ลอรีอัล” ทุ่มเงิน 652 ล้านปอนด์ ซื้อกิจการของ “The Body Shop” แว่วว่าซื้อมาเพื่อเสริมทัพสร้างภาพลักษณ์ให้กลุ่มธุรกิจ แต่จนทุกวันนี้ผ่านไป 14 ปี ยังปลุกปั้นให้กลับมาเปรี้ยงปร้างไม่สำเร็จ และสร้างรายได้ต่ำกว่าเป้ามาก เพียงปีละ 700 กว่าล้านปอนด์ นอกจากจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลจากการเปิดช็อป ที่มีอยู่มากกว่า 3,000 สาขา ใน 66 ประเทศทั่วโลก แบรนด์เก่าแก่อายุ 43 ปี ยังต้องสู้กับคู่แข่งรุ่นหลังที่มีไอเดียสดใหม่กว่า และโดนธุรกิจออนไลน์ตีตลาดกระจุย

...

จะว่าไปแล้วชะตากรรมของ “The Body Shop” ก็ไม่ต่างจากแบรนด์ที่โตมาด้วยการสร้างภาพลักษณ์เพื่อสังคมทั้งหลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องขายกิจการให้นายทุนใหญ่ๆเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ก็มักจะถูกแอนตี้จากลูกค้าเก่าๆ ขณะที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มองว่าเอาต์ตกยุคไปแล้ว

น่าแปลกก็คือ ถึงชื่อเสียงของแบรนด์จะตกต่ำขนาดไหน แต่ภาพลักษณ์ของ “อนิตา ร็อดดิค” กลับไม่ถูกดึงให้เสียหายไปด้วย เธอเสียชีวิตด้วยอาการเลือดออกในสมอง ขณะอายุ 64 ปี เพียงปีเดียวหลังขายกิจการให้ลอรีอัล เมื่อเปิดพินัยกรรมออกมาลูกหลานถึงกับช็อก เพราะเธอตัดสินใจมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมด มูลค่าไม่ต่ำกว่า 51 ล้านปอนด์ ให้องค์กรการกุศลต่างๆ โดยไม่เหลือแม้แต่ปอนด์เดียวให้คนในครอบครัว

กระนั้น ในงานศพของเจ้าแม่เดอะ บอดี้ ช็อป เต็มไปด้วยเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญในคุณงามความดี แม้แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษในยุคนั้น ก็ยกย่องชื่นชมเธอ เช่นเดียวกับผู้นำองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างกรีนพีซ และองค์กรนิรโทษกรรมสากล คงไม่ใช่ในฐานะนักธุรกิจที่ร่ำรวยอันดับต้นๆของประเทศ แต่เธอเป็นที่จดจำมากกว่าในฐานะผู้บุกเบิกการทำธุรกิจโดยแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เธอเป็นนักธุรกิจคนแรกๆของโลกที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมในทุกเรื่องก่อนใคร ตั้งแต่รณรงค์เรื่องโลกร้อน, การรีไซเคิล, การช่วยชีวิตปลาวาฬ, การสนับสนุนสิทธิสตรี, การอนุรักษ์ป่า ไปจนถึงการเรียกร้องให้คว่ำบาตรจีน หัวใจของเธอคือเอ็นจีโอแท้ๆ ที่บังเอิญประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจ.

มิสแซฟไฟร์