ขณะที่ทั่วโลกกำลังต่อสู้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีต้นตอจากสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยในจีน ที่ภูมิภาคทะเลทราย “จะงอยแอฟริกา” ในแอฟริกาตะวันออก ก็เผชิญมหันตภัยจากสัตว์ แต่มันคือ ฝูง “ตั๊กแตนปาทังก้า” ที่แพร่ระบาดเป็นไฟลามทุ่งหลายหมื่นล้านตัว กัดกินพืชผลเสียหายเหี้ยนเต้

ฝูงปาทังก้าหรือตั๊กแตนหนวดสั้น เริ่มแพร่จาก “เยเมน” บินข้ามทะเลแดงเข้าสู่แอฟริกาตะวันออกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังมีฝนตกหนักในเยเมน ทำให้พวกมันแพร่พันธุ์ได้เร็วเป็นพิเศษ และแต่ละวันสามารถบินได้ไกลถึง 150 กม. แต่ละตัวยังกินอาหารได้เท่าน้ำหนักตัวของมันเอง

องค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้นานาชาติช่วยต่อสู้ตั๊กแตนปาทังก้าตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.ปีนี้ ก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลในเดือน เม.ย. และเตือนว่าถ้า “เอาไม่อยู่” ในเดือน มิ.ย. พวกมันจะทวีจำนวนขึ้นถึง 500 เท่า! และอาจแพร่ระบาดข้ามปีไปถึงปีหน้าหรือปีต่อไป

ยูเอ็นระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดของตั๊กแตน ปาทังก้าครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีใน “เคนยา” และรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีใน “โซมาเลีย” และ “เอธิโอเปีย”! จนเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โซมาเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ” รับมือภัยคุกคามจากปาทังก้า

แต่โซมาเลียมีปัญหาความมั่นคงไร้เสถียรภาพ จึงไม่สามารถส่งเครื่องบินขึ้นโปรยยาฆ่าแมลงกำจัดฝูงตั๊กแตนปาทังก้าได้ในหลายพื้นที่ ทำให้การแพร่ระบาดยิ่งขยายวงกว้าง เกษตรกรมากมายสูญเสียพืชผลหมดเนื้อหมดตัว ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารหนักขึ้น ขณะที่ภูมิภาคนี้มีผู้คนอดอยากแสนสาหัสอยู่แล้วกว่า 19 ล้านคน

...

นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อพืชผลเหลือคณานับ ฝูงตั๊กแตนปาทังก้ายังเป็นอันตรายต่อการบินด้วย เช่น เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ฝูงปาทังก้าพุ่งชนช่องเครื่องยนต์ กระจกหน้า และปลายหัวเครื่องบินโดยสารของสายการบินเอธิโอเปียน แอร์ไลน์ส จนต้องเปลี่ยนเส้นทางกลับไปลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินกรุงแอดดิสอาบาบา

ในทศวรรษ 1990 “จะงอยแอฟริกา” เคยเผชิญการแพร่ระบาดของตั๊กแตนปาทังก้าครั้งใหญ่ถึง 6 ครั้ง รวมทั้งช่วง ค.ศ.1987-1989 และ ค.ศ.2003-2005

จะงอยแอฟริกาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในโลก มหันตภัยจากปาทังก้าจึงเสมือน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ขอภาวนาอย่าให้ “ไวรัสอู่ฮั่น” ระบาดไปถึงที่นั่นด้วย เพราะคงสุดจะรับมือไหว!

บวร โทศรีแก้ว