ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็กๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ 41,543 ตร.กม. แค่ 8% ของประเทศไทย หรือมีพื้นที่เท่ากับเอา 2 จังหวัด นครราชสีมากับเชียงใหม่ มารวมกันเท่านั้นเอง

แต่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกในด้านสินค้าเกษตร ด้วยมูลค่าส่งออกปีละไม่ต่ำกว่า 92,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท...เขาทำได้อย่างไร

“ปัจจัยหลักคือการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตรและอาหาร โดยใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด ขณะที่มีพื้นที่จำกัด ต้องตั้งโจทย์ให้ตัวเอง จะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูงต่อหน่วยพื้นที่ บนต้นทุนที่แข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนบนพื้นฐานการวิจัยของ 3 ประสาน ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษาและการสนับสนุนจากภาครัฐ”

วิลเลม สะเคราตา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร สถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย อธิบายภาพรวมที่ทำให้ประเทศเล็กกว่าไทยก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเกษตรและอาหารโลก

การผลิตสินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ (Digitalization) แบบเกษตรแม่นยำ (Precision Framing) ในแปลงเกษตร และโรงเรือนระบบปิดของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Greenhouse) เป็นที่นิยมทำกันค่อนข้างมาก

...

เพราะสามารถเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาลในปริมาณมาก สามารถควบคุมได้ทั้งน้ำ ปุ๋ย ยา ความชื้น แสง รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆให้ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด รวมไปถึงการควบคุมโรคแมลงศัตรูพืชได้ ทำให้ใช้สารเคมีกำจัดค่อนข้างน้อย

ยกตัวอย่าง มันฝรั่ง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เมื่อปลูกภายใต้นวัตกรรมของเนเธอร์แลนด์ สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับการผลิตมันฝรั่งทั่วไป

ขณะเดียวกันเกษตรกรในเนเธอร์แลนด์ มีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการเข้มข้น มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจการตลาดค่อนข้างมาก เปิดกว้างในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่างๆ ทั้งนวัตกรรม ประสบการณ์ จุดอ่อนจุดแข็งระหว่างกัน มีองค์ความรู้ที่ตั้งบนพื้นฐานการวิจัยและพัฒนา ที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดของผู้บริโภค ทำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร มีความเข้มแข็งมาก บางแห่งตั้งเป็นรูปแบบบริษัท

ส่วนงานวิจัยได้รับการสนับ สนุนจากภาครัฐผ่านสถาบันการศึกษา ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้จริง หน่วยบริการวิชาการแก่เกษตรกรมีเจ้าหน้าที่ด้านส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจริง สามารถแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรได้

แม้แต่สถาบันการเงินที่สนับสนุนการลงทุน ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจเกษตร ภาคเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมเกษตรอย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรได้กู้เงินไปลงทุนอย่างชาญฉลาด...ไม่ใช่แค่จะปล่อยเงินกู้ไปลงทุนซื้ออุปกรณ์ทันสมัยในฟาร์มเท่านั้น

สำหรับนโยบายจากภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพอาหาร จะเน้นเรื่องการทำเกษตรแบบหมุนเวียน (Circular Agriculture) และการผลิตด้านการเกษตรเพื่ออนาคต (Farming the Future) โดยมีเกษตรกรเข้าไปมีส่วนในการออกนโยบายต่างๆ

โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความหลากหลายพิเศษในสินค้า ในราคาที่แข่งขันในตลาดได้ และเพิ่มช่องทางตลาดให้สินค้าเกษตร โดยมีการทำงานเชื่อมโยงกันทุกฝ่าย ทั้งนักวิจัย เอกชน และเกษตรกร

...

ความเข้มแข็งของเกษตรกรประเทศเนเธอร์แลนด์ จนยกระดับมาได้ขนาดนี้ มิได้เกิดจากเม็ดเงินที่อัดไปจากรัฐเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนกลายเป็นความเคยชินเหมือนอย่างบ้านเรา

คนดัตช์ไม่เคยมีปัญหาในเรื่องอินทรีย์-เคมีเหมือนเรา เพราะเขาตระหนักดี สินค้าเกษตรแต่ละประเภทมีตลาดของตัวเอง แล้วเลือกที่จะผลิตตามความต้องการของตลาดมากกว่า เนเธอร์แลนด์จึงผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย มีทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมีปลอดภัยไร้สารตกค้าง

นี่แหละยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าเกษตรและอาหารเบอร์ 2 ของโลก ไม่มานั่งมโนโลกสวยแผ่นดินต้องปลอดสารเคมี เพราะบนโลกใบนี้ ไม่มีที่ไหนจะเป็นอินทรีย์ได้ 100%

เพราะคนเราเองจะมีชีวิตอยู่รอดได้ต้องพึ่งพาสารเคมีกันทั้งนั้น.

ทีมข่าวเกษตร