เส้นผ่าศูนย์กลาง2,000กม. ปชช.แห่ตุนเสบียงรับมือ

ชาวญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” เต็มที่ แห่กักตุนอาหารน้ำดื่มและสิ่งของจำเป็นในการยังชีพระหว่างพายุพัดถล่มญี่ปุ่นรวม 3 วันตามร้านค้ากับซุปเปอร์มาร์เกต จนอาหารและน้ำดื่มเกลี้ยงชั้นวาง ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสั่งเตรียมพร้อมรับมือทุกด้าน โดยทางการเตรียมกระสอบทรายจำนวนมากป้องกันน้ำท่วมจากฝนที่ตกกระหน่ำ และให้ผู้คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยอพยพเข้าศูนย์พักพิง เปิดสายด่วนบริการนักท่องเที่ยวที่อาจประสบภัยจากฮากิบิส สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากาและสถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ออกประกาศเตือนคนไทย อย่าออกจากบ้านและเลี่ยงเดินทางจุดไต้ฝุ่นถล่ม

ชาวญี่ปุ่นระทม เมื่อต้องเจอกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ครั้งล่าสุด จากพายุที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพายุลูกที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นประวัติศาสตร์ของแดนอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง คือ มหันตภัยซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” (Hagibis) ที่มีความรุนแรงระดับ 5 ด้วยความเร็วลมสูงสุด 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้ มีเส้นทางเคลื่อนตัวจากมหาสมุทร แปซิฟิกขึ้นฝั่งทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ในวันเสาร์ที่ 12 ต.ค. และอาจทำให้ญี่ปุ่นเผชิญกับสถานการณ์พายุฝนครั้งรุนแรงที่สุด ในรอบกว่า 6 ทศวรรษ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น หรือเจเอ็มเอ เปรียบเทียบด้วยว่า ครั้งสุดท้ายที่ญี่ปุ่นประสบกับไต้ฝุ่นรุนแรงระดับนี้ คือเมื่อปี 1958 หรือปี 2501 โดยพายุรุนแรงครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 1,200 คน

ด้านสำนักข่าวเจแปนไทม์ของญี่ปุ่น รายงานอ้างการเปิดเผยของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เตือนภัยว่า พายุที่มีความรุนแรงมากกว่า 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป อิทธิพลของพายุอาจส่งผลให้อาคารบ้านเรือนพังถล่มได้ พร้อมได้มีการประกาศเตือนภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากและกำหนดการพายุพัดขึ้นฝั่ง ตรงกับช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนในอ่าวโตเกียว นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สั่งการคณะรัฐมนตรีเตรียมมาตรการรับมือทุกด้านที่จำเป็น

...

จากการคาดคะเนทิศทางของไต้ฝุ่นฮากิบิส ซึ่งเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 19 ของปีนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2,000 กิโลเมตร จะครอบคลุมทั้งพื้นที่จังหวัดชิซุโอกะ คานางาวะ อยู่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ก่อนเคลื่อนผ่านกรุงโตเกียว และจังหวัดชิบะทางตะวันออก ซึ่งพายุนี้จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดอิบารากิ ทางตะวัน– ออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียวด้วย และพายุจะเคลื่อนตัวกลับสู่มหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้งในช่วงวันที่ 13-14 ต.ค.

สำหรับที่จังหวัดชิบะ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดนั้น ทางการญี่ปุ่นได้เตรียมการระดมกระสอบทรายจำนวนมากป้องกันน้ำท่วม พร้อมประกาศให้ประชาชนกักตุนสิ่งของจำเป็นทั้งอาหารและน้ำดื่มเป็นเวลานาน 3 วัน รวมถึงชาร์จโทรศัพท์มือถือไว้ให้เต็มเพื่อความพร้อมในการใช้งาน พร้อมรับมือกรณีไฟฟ้าดับและต้องการความช่วยเหลือ ทั้งยังเตือนให้ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยอพยพเข้าไปพำนักที่ศูนย์พักพิง หลังในพื้นที่ดังกล่าวยังคงบอบช้ำจากผลกระทบของไต้ฝุ่นฟ้าใสเมื่อเดือน ก.ย. ที่ส่งผลให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 36,000 หลัง

ส่วนสายการบินกว่า 900 เที่ยวบิน ในจำนวนนี้เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 370 เที่ยวบิน ในวันที่ 12 ต.ค. ได้ถูกประกาศยกเลิก เช่นเดียวกับการสั่งระงับให้บริการรถไฟความเร็วสูงชินคันเซน เส้นทางออกจากกรุงโตเกียว นอกจากนี้ พายุยังส่งผลกระทบต่อการแข่งขันรักบี้ เวิลด์ คัพ ในวันที่ 12 ต.ค. และรอบคัดเลือกการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน กรังด์ปรีซ์ ที่เมืองซูซูกะ ในวันที่ 13 ต.ค. ขณะเดียวกัน ทางการญี่ปุ่นได้เปิดสาย Visit Japan Hotline ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว Hotline หมายเลข +81 (0) 50-3816-2787 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสบปัญหาการเดินทางท่องเที่ยว หรือเจ็บป่วยหรือประสบภัยจากภัยพิบัติไต้ฝุ่น โดยมีบริการภาษาอังกฤษด้วย ขณะเดียวกันในโลกโซเชียล ก็ได้มีการติดแฮชแท็ก #Savejapan กันจำนวนมาก เพื่อให้กำลังใจชาวญี่ปุ่นที่ต้องประสบภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงอีกครั้งจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส

ต่อมากรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ไต้ฝุ่นฮากิบิส ที่หมายถึงความเร็วในภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์ จะลดระดับความเร็วลมจากระดับ 5 หรือมากกว่า 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 ที่มีความเร็วประมาณ 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังมีรายงานว่า ช่วงระหว่างมีพายุไต้ฝุ่น ชาวญี่ปุ่นบางส่วนในกรุงโตเกียว ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ถือโอกาสเดินทางกลับบ้านในช่วงสุดสัปดาห์ เนื่องจากวันที่ 14 ต.ค. เป็นวันหยุดเนื่องในเทศกาลสุขภาพและกีฬาของญี่ปุ่นพอดี

ด้านการเตรียมพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสของชาวญี่ปุ่นนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจำนวนมาก เช่น ในกรุงโตเกียวต่างตื่นตัวและแห่ไปซื้ออาหารน้ำดื่ม กับสิ่งของจำเป็นแก่การยังชีพ ตามร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เกตต่างๆไว้เป็นเสบียงกินใช้ในบ้านเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างเกิดพายุจนของหลายอย่างโดยเฉพาะพวกอาหารที่รับประทานได้เลยไม่ต้องปรุง เนื่องจากอาจไฟดับและน้ำไม่ไหล หมดเกลี้ยงชั้นวาง บ้านบางหลังที่มีความชำรุดเรื่องประตูหน้าต่าง หรือหลังคาบ้าน ก็มีการเร่งระดมซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงขึ้นป้องกันพายุพัดปลิว

วันเดียวกัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ขอแจ้งเตือนคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตคันไซ (โอซากา มิเอะ เฮียวโกะ วากายามะ เกียวโต นารา ชิกะ) และชิโกะกุ (โทกูชิมะ คากาวะ โคจิ เอฮิเมะ) และนักท่องเที่ยวไทยที่อยู่หรือกำลังเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว โปรดติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น/ทางการท้องถิ่น และปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการเตือนภัยจากพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 (Hagibis) ซึ่งจะเคลื่อนผ่านประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2562 อิทธิพลของไต้ฝุ่นดังกล่าวจะทำให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักในพื้นที่คันไซและชิโกะกุ ระหว่างวันที่ 12—13 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นขอให้ประชาชนระวังฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง ระดับน้ำทะเลสูง น้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งดินถล่ม นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารการให้บริการขนส่งมวลชนต่างๆ (รถไฟ/สายการบิน) ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเวลา/ ยกเลิกการให้บริการ เนื่องจากผลกระทบจากไต้ฝุ่นหมายเลข 19

...

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอให้คนไทยติดตามข่าวสารสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการของเที่ยวบินต่างๆ และขนส่งมวลชนจากสายการบินและบริษัทผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง กรณีประสงค์ขอรับความช่วยเหลือในกรณี ฉุกเฉิน ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฮอตไลน์ของสถานกงสุลใหญ่ฯ หมายเลข 090-1895-0987

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประกาศเตือนคนไทยถึงเรื่องพายุฮากิบิส ว่า ในช่วงที่มีพายุ ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ขอให้หลีกเลี่ยงการออกจากเคหสถาน อาจเกิดไฟฟ้าขัดข้อง น้ำประปาไม่ไหลในพื้นที่ต่างๆของเขตคันโต ขอให้ตรวจสอบความแข็งแรงของประตูหน้าต่าง เตรียมอาหารและน้ำ (สำหรับ 3 วัน) ไฟฉาย ของจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระวังสิ่งของด้านนอกบ้านหรือระเบียงที่อาจปลิวจากลมกระโชกแรงและสร้างความเสียหายได้ โปรดเตรียมความพร้อม หากมีประกาศอพยพของทางการญี่ปุ่น รวมถึงติดตาม รายละเอียดประกาศการยกเลิกของสายการบินและบริษัทรถไฟ

ในประกาศยังระบุว่า นอกจากนี้ หลังจากที่พายุได้พัดผ่านไปแล้ว ขอให้ตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านเรือน ตรวจสอบความปลอดภัยของเส้นทาง การเดินรถและรถไฟ สถานที่ที่จะเดินทางไป เนื่องจากถนนอาจชำรุด และรถไฟอาจยังไม่เปิดให้บริการ รวมถึงกรณีคนติดค้าง ณ จุดต่างๆ อาทิ สนามบิน ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำเป็นการชั่วคราว ขอให้เตรียมการรับมือ

น.ส.สาลีนี ผลประไพ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (สอท.) เปิดเผยเมื่อค่ำวันที่ 11 ต.ค. ว่า สถานการณ์คนไทยในญี่ปุ่นตอนนี้ มีนักท่องเที่ยวหลายคนโทร.มาสอบถามกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ส่วนใหญ่ถามเรื่องการเดินทางมาโตเกียว ความปลอดภัยในโตเกียว กังวลเรื่องอยู่เกิน 15 วันเนื่องจากเที่ยวบินถูกยกเลิก สอท.ก็ขอให้นักท่องเที่ยวที่ยังไม่มาญี่ปุ่น หากเป็นไปได้ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาญี่ปุ่น ในช่วง 12-13 ต.ค.

...

ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่มาญี่ปุ่นแล้ว ขอให้อยู่ในที่พัก เตรียมความพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำดื่ม แบตเตอรี่โทรศัพท์และ powerbank อาจสำรองน้ำในภาชนะหรืออ่างอาบน้ำและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งขอให้ติดต่อ เบอร์ฮอตไลน์ สอท. กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมกันนั้นขอให้ติดตามสถานะเที่ยวบินของตัวเองจากเว็บไซต์ของสายการบินและการมีประกันการเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญในกรณีเกิดภัยธรรมชาติเช่นนี้ กรณีอยู่ครบ 15 วันแล้วเกิดกรณีพายุไต้ฝุ่น ทำให้อยู่ในญี่ปุ่นเกินกำหนดนั้น หากมีหลักฐานอันสมควร ปกติ ตม.จะผ่อนผันให้

อนึ่ง สอท.ได้เตือนภัยและให้ข้อมูลแก่ประชาชนเป็นระยะๆ ทาง Facebook และ Twitter ของ สอท. และมีโทรศัพท์ Hotline ของ สอท.และ สกญ. ซึ่งส่วนใหญ่ที่โทร.เข้ามาเพื่อสอบถามเพราะกังวลเรื่องสถานการณ์ ยังไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

นายไพศาล วิสุทธิศาลวงศ์ นักท่องเที่ยวชาวไทยจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เดินทางมาเที่ยวกรุงโตเกียวพร้อมครอบครัวตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. เปิดเผยกับไทยรัฐ เมื่อเวลา 19.30 น. ถึงสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นว่า ได้ที่พักอยู่ในย่านกินซ่าใกล้กับสถานีรถไฟโตเกียว ทางโรงแรมได้แจกเอกสารให้ผู้มาพักแจ้งว่าจะมีการระงับการให้บริการรถไฟ ช่วงตอนค่ำมีฝนพรำๆลงมาเล็กน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่ปิดบ้านอยู่แต่ในบ้าน แต่ร้านสะดวกซื้อยังเปิดให้บริการตามปกติ ส่วนรถราต่างๆก็ยังวิ่งให้บริการ