(Crภาพ:ยูทูบ)
นักวิทย์นาซาเฝ้าติดตาม ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 พุ่งเฉียดโลก 10 ส.ค.62 ยันไม่ชน เพราะห่างจากโลกราว 4.6 ล้านไมล์ แต่ระยะห่าง จัดเป็นระยะที่อยู่ในระดับ ‘อาจเป็นอันตราย’ จึงต้องเฝ้าจับตา
เมื่อ 10 ส.ค.62 เว็บไซต์ space รายงานว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) กำลังเฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 ขนาดใหญ่ ที่จะเฉียดโลกในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 โดยคาดว่าดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 จะพุ่งผ่านโลกของเราในระยะห่างประมาณ 4.6 ล้านไมล์ (หรือประมาณ 7.406 ล้านกิโลเมตร) ด้วยความเร็ว 16,740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งระยะห่างดังกล่าวระหว่างดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กับโลก ถือเป็นระยะใกล้เพียงพอที่นักวิทยาศาสตร์จัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ ‘อาจเป็นอันตราย’
ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,870 ฟุต หรือราว 570 เมตร ใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตตในนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งสูง 1,454 ฟุต โดยลินด์ลีย์ จอห์นสัน และเคลลี ฟาสต์ นักวิทยาศาสตร์ประจำสำนักงานประสานการปกป้องโลก ของนาซา กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า ชาวโลกไม่มีอะไรที่ต้องหวาดกลัวว่าดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 จะพุ่งชนบริเวณไหนของโลก เพียงแต่การที่นักวิทยาศาสตร์ต้องเฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 เนื่องจากระยะห่างขณะดาวเคราะห์น้อยผ่านโลก ถูกจัดว่าเป็น ‘เทหวัตถุที่เคลื่อนผ่านในระยะใกล้โลก’
...
การเฝ้าติดตามเทหวัตถุที่เคลื่อนผ่านในระยะใกล้โลกเหล่านี้ เป็นกลไกในการปกป้องคุ้มกันเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเทหวัตถุใดๆ เข้าใกล้โลกถึงขนาดพุ่งชนโลก โดยลินด์ลีย์ จอห์นสัน กล่าวด้วยว่า ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 ถือเป็นดาวเคราะห์ขนาดปานกลาง ซึ่งปกติแล้วจะมีดาวเคราะห์ขนาดนี้ผ่านโลกประมาณปีละ 6 ครั้ง.