...อีกตัวอย่าง “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” กรณี “แฟรงกี้ ซาปาตา” ชาวฝรั่งเศส วัย 40 ปี นักประดิษฐ์ อดีตแชมป์ขี่เจ็ตสกี ใช้พาหนะ “ฟลายบอร์ด” ลอยข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จคนแรกของโลก หลังความพยายามครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ 4 ส.ค.2562

“ซาปาตา” ใช้พาหนะ “กระดานเหาะ” เชื้อเพลิงน้ำมันก๊าด ลอยข้ามช่องแคบอังกฤษจากฝั่งภาคเหนือฝรั่งเศส ระยะทาง 35.4 กม. บนความสูงเหนือพื้นดินและน้ำทะเลเฉลี่ย 15-20 เมตร ความเร็วเฉลี่ย 160-170 กม. ใช้เวลาเดินทาง 22 นาที...

ความพยายามครั้งแรกเมื่อ 25 ก.ค. เขาพลาดตกทะเลระหว่าง “ลงจอด” เปลี่ยนถังเชื้อเพลิงบนฐานกลางช่องแคบอังกฤษ เจ้าตัวระบุ กาลเวลาจะพิสูจน์เรื่องนี้ควรถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์หรือไม่ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมของเขา จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพาหนะชาวโลกในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ แต่ยืนกรานพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไปด้วยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทัพฝรั่งเศส ซึ่งหวังนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้หลากหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงงานขนส่งและภารกิจรบจู่โจม

...

การเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษกับฝรั่งเศสด้วยวิธีการต่างๆมีมานานแล้ว เริ่มจากเที่ยวบินเดี่ยวครั้งแรกเมื่อ 110 ปีก่อนโดยครูฝึกการบินชาวฝรั่งเศสใช้เครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยวบินข้ามช่องแคบใช้เวลา 37 นาทีเมื่อ 25 ก.ค.ปี 2452 วันเดียวกับที่นายซาปาตา พยายามใช้ “กระดานเหาะ” ลอยข้ามช่องแคบอังกฤษครั้งแรก

ก่อนหน้านั้น ปี 2328 ชาวฝรั่งเศสกับชาวอเมริกัน ร่วม “ลอยบอลลูน” ข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จครั้งแรก ด้วยเวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง

เดือน ส.ค.ปี 2418 กัปตันเรือสินค้าชาวอังกฤษ “ว่ายน้ำ” ข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จคนแรก ใช้เวลา 21 ชั่วโมง 45 นาที ตามด้วยสตรีชาวอเมริกันว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จคนแรกเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2469 ใช้เวลา 14 ชั่วโมง 31 นาที และเดือน ก.ย.ปี 2553 หนุ่มพิการไร้แขนขาชาวฝรั่งเศส ใช้อุปกรณ์ออกแบบพิเศษ ช่วยว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จด้วยเวลา 13 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ยังมีการใช้พาหนะอื่นๆข้ามช่องแคบอังกฤษอีกหลายครั้ง รวมถึงเครื่องร่อนนานาชนิด ยานโฮเวอร์คราฟต์และ “ปีกบินไอพ่น” ของนักผจญภัยชาวสวิตเซอร์แลนด์ เหาะร่อนข้ามช่องแคบอังกฤษสำเร็จเมื่อเดือน ก.ย.ปี 2551 ด้วยความเร็วเกือบ 200 กม.ต่อชั่วโมง ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที...

อานุภาพ เงินกระแชง