อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้คนมีศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า ศาสนสถานส่วนใหญ่ได้รับการดูแลรักษาและทำนุบำรุงเป็นอย่างดี วัดบางแห่งมีผู้คนนับล้านไปประกอบศาสนกิจและเยี่ยมชม ส่งผลให้มีผู้บริจาคให้วัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การบริจาคเงินให้วัดอย่างมหาศาลนี้เป็นเรื่องของความศรัทธาของแต่ละบุคคล บทความนี้ผู้เขียนเพียงนำเสนอในแง่มุมเกี่ยวกับความมั่งคั่งทางทรัพย์สินเท่านั้น ในส่วนของคำสอนทางศาสนาจึงมิได้กล่าวถึง และนี่เป็น 5 อันดับแรกของวัดฮินดูที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดีย โดยอ้างอิงข้อมูลจากปี 2018 ครับ

อันดับที่ 5 วัดศรีสิทธิวินายกะ (Shri Siddhivinayaka Temple)

วัดเก่าแก่กว่า 200 ปี ตั้งอยู่ที่เขตประภาเทวี เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฎร์ หรือรู้จักกันดีในท้องถิ่นว่า นวรัชนา คณปติ (Navarachna Ganapati) หรือนวสาลา ปาวนารา คณปติ (Navasala Pavnara Ganapati) เป็นวัดที่สร้างอุทิศถวายแด่ พระคเณศ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ศรีสิทธิวินายกะ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ผู้ประทานทุกสรรพสิ่ง และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ถึงกับมีคนยกย่องให้พระคเณศที่อยู่ในวัดนี้เป็นองค์ประธานของโลกเลยทีเดียว

วัดศรีสิทธิวินายกะ
วัดศรีสิทธิวินายกะ

...

ความอลังการของวัดนี้คือ ยอดของวัดที่เรียกว่าศิขระ หรือกลัศ มีทั้งหมด 37 ยอด ตรงกลางสูงถึง 12 ฟุต ยอดอื่นๆสูงตั้งแต่ 3.5-5 ฟุต ทำจากทองคำหนักรวม 1,500 กิโลกรัม ภายในบริเวณองค์ประธานที่ประดิษฐานพระคเณศองค์สีส้มองค์เล็กนิดเดียว มี 4 กร ทรงถือดอกบัว ขวาน ลูกประคำ และขนม ประดับด้วยทองคำและอัญมณีหนักหลายสิบกิโลกรัม มีโดมทำจากทองคำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม มาจากการบริจาคของผู้ที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่ได้ขอพรไว้ ประตูไม้สู่ห้องบูชาภายในสุด ถูกแกะสลักเป็น รูปอัษฏวินายกะ (Ashtavinayak) หรือเทวสถานสำคัญอีก 8 แห่ง ในรัฐมหาราษฎร์ หลังคาชั้นในก็บุด้วยทองคำ วัด แห่งนี้ได้รับเงินบริจาคมากถึง 480-1,250 ล้านรูปีต่อปี (1 รูปี ประมาณ 0.45 บาท) ในปี 2016 วัดนี้เป็นวัดแรกที่เข้าร่วมการลงทุนกับธนาคารแห่งรัฐ โดยทรัพย์สินในการลงทุนเป็นทองคำหนักเกือบ 50 กิโลกรัม โดยได้รับเงินปันผล 2.25% ต่อปี และเป็นตัวอย่างให้เทวสถานอื่นๆร่วมลงทุนกับรัฐบาลมากขึ้นด้วย

อันดับที่ 4 วัดไวษโณ เทวี (Vaishno Devi Temple)

ตั้งอยู่ที่เมืองกัตระ (Katra) รัฐชัมมูกัศมีร์ หรือแคชเมียร์ ทางเหนือของอินเดีย บนภูเขาที่มีชื่อว่า ตรีกูฏ (Trikut) อุทิศถวาย พระแม่ไวษโณเทวี หรือ อทิศักติ (Adi Shakti) และเทวีทั้ง 3 คือ เทวีสรัสวตี เทวีลักษมี และเทวีมหากาลี

วัดไวษโณ เทวี บนภูเขาตรีกูฏ
วัดไวษโณ เทวี บนภูเขาตรีกูฏ

เป็นวัดที่สร้างอาคารครอบถ้ำ 3 แห่งบนภูเขา ภายในถ้ำจะมีหิน 3 ก้อน ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระแม่ทั้งสาม มีลำธารคงคาไหลผ่าน ผู้สักการะจะชำระล้างร่างกายที่ลำธารนั้นก่อนจะเข้าไปด้านใน วัดแห่งนี้ยังเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดา ศักติ ปีฐะ (เทวสถาน 51 แห่งของเทพสตรี) เป็นส่วนแขนขวาของ พระแม่สตี เรียกว่า วรัท หัสต์ (Varad Hasta ) ที่ตกลงมาเมื่อคราวที่นางกระโดดลงกองไฟ ทำให้ พระศิวะ เสียใจมาก หิ้วศพของนางไม่ยอมปล่อย พระวิษณุ จึงต้องใช้จักรตัดร่างออกเป็น 51 ส่วน และร่วงลงสู่พื้นกลายเป็นเทวสถาน 51 แห่งตามตำนาน

วัดแห่งนี้มีผู้ศรัทธาบริจาคทองคำ อัญมณี และรูปปั้นทั้งหลายเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งจากประชาชน ผู้แสวงบุญ และเหล่ามหาราชาในอดีต โดยถูกเก็บรักษาเอาไว้ไม่ให้ใครแตะต้องตรงบริเวณด้านหลังของบัลลังก์ที่ประดิษฐานหินศักดิ์สิทธิ์ เครื่องประดับทองคำกว่า 52 กิโลกรัม และเพชรพลอย อีกจำนวนมาก โดยแต่ละปีมีผู้แสวงบุญเดินทางมาที่นี่ร่วม 8 ล้านคน เป็นเทวสถานที่มีคนเข้าเยี่ยมชมมากเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่วัดติรุปติทางใต้ของอินเดียเท่านั้น รวมยอดบริจาค 5,000 ล้านรูปีต่อปี โดยช่วงพีกที่สุดคือช่วงเทศกาล วันนวราตรี ประเพณีบูชาเหล่าเทวีทั้งหลาย

อันดับที่ 3 วัดศิรฑิ ไสย บาบา (Shirdi Sai Baba Temple)

ตั้งอยู่ที่เขตศิรฑิ เมืองอาหเมดนคร (Ahmed-nagar) รัฐมหาราษฎร์ ทางตะวันตกของอินเดีย วัดนี้ถวายแด่นักบวชองค์สำคัญของอินเดียนามว่าไสย บาบา (Sai Baba) นักบวชที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นนักบวชและนักบุญที่ได้รับความเคารพจากทั้งชาวฮินดูและมุสลิม เชื่อว่าเป็นอวตารของ พระทัตตเตรยะ หรือ ตรีมูรติ คำว่า ไสย แปลว่า นักบวช หรือนักบุญ ผู้สมถะ ส่วนคำว่า บาบา แปลว่า พ่อ ใช้เรียกบุคคล ที่ควรเคารพ กล่าวกันว่าขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้สร้างปาฏิหาริย์มากมายให้ผู้คนได้เห็น และคำสอนของท่านก็เน้นหนักไปในเรื่องความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และความสมานฉันท์ของคนต่างศาสนา

...

ไสย บาบา
ไสย บาบา

วัดแห่งนี้สร้างโดยเศรษฐีจากเมืองนาคปุระ ชื่อว่า โคปาลราว พูติ (Gapalrao Booty) โดยเริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ.1915 และระหว่างการสร้างวัดกำลังดำเนินไป ขณะนั้นบาบาอยู่ที่มัสยิดแห่งหนึ่ง ท่านกล่าวกับคนดูแลว่ารู้สึกไม่ค่อยดี ให้พาท่านไปที่วัดแห่งนั้นหน่อย ซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า ทคฑี วฑา (Dagda Wada) แปลว่า ที่พำนักที่สร้างจากหิน และท่านก็เข้ามหาสมาธิหรือสิ้นชีวิตที่นั่นเอง ศพของท่านได้รับการฝังพร้อมกับของใช้ที่แสนสมถะของท่าน ก่อนที่จะสร้างรูปสลักประดิษฐานเหนือหลุมศพในปี 1954 ผู้แกะสลักรูปเหมือนของบาบาชื่อว่า พาลาชี วสันต์ ทลิม (Balaji Vasant Dalim) เขาพยายามอย่างมากในการแกะสลักหินอ่อนจากรูปเก่าๆของบาบา และสุดท้ายเขากล่าวว่าบาบามาให้เห็นในฝัน เขาสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆได้อย่างอัศจรรย์ และแกะสลักออกมาได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

วัดแห่งนี้ได้รับการถวายเพชรพลอย อัญมณี และเครื่องประดับต่างๆมูลค่ากว่า 320 ล้านรูปี ทองคำ 376 กิโลกรัม บัลลังก์ทองคำหนัก 95 กิโลกรัม รวมทั้งร่มฉัตรทอง สิงโตทอง 1 คู่ กำแพงด้านหลังที่เห็นอร่ามตานั่นก็ทองล้วนๆ เหรียญทองและ

...

จี้ทองคำอีก 12 ล้านรูปี เหรียญเงิน 6 แสนรูปี เงินบริจาคประมาณ 4,037 ล้านรูปีต่อปี และเงินลงทุนต่างๆอีก 4,271 ล้านรูปี

อันดับที่ 2 วัดติรุมลา ติรุปติ เวงกเฏศวร (Tirumala Tirupati Venkateshwara Temple)

ตั้งอยู่ที่เขตติรุมลา เมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศ ทางใต้ของอินเดีย สร้างอุทิศถวาย พระเวงกเฏศวร (Venkateshwara) อวตารหนึ่งของ พระวิษณุ

วัดติรุมลา ติรุปติ เวงกเฏศวร
วัดติรุมลา ติรุปติ เวงกเฏศวร

วัดตั้งอยู่บนเนินเขาติรุมลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเศษะจลัม (Sheshachalam) ซึ่งประกอบไปด้วยเนินเขา 7 ลูก สื่อถึง อทิเศษนาค นาค 7 เศียรที่เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุ

อาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมฑราวิท ของอินเดียใต้ ในปัจจุบันมีผู้มาเยือนกว่า 50,000-100,000 คนต่อวัน และสถิติสูงสุดคือ 500,000 คนในวันเทศกาลสำคัญคือ พรหโมตสวะ (Brahm-otsva) ช่วงกันยายน-ตุลาคม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดของโลกในปี 2016

...

วัดแห่งนี้ประดิษฐานเทวรูปพระเวงกเฏศวร ที่สลักจากหินอ่อนสีดำขนาดใหญ่ ซึ่งเครื่องทรงอัญมณี และทองคำที่ห่อหุ้มเทวรูปอยู่นั้น รวมน้ำหนักทั้งหมด 100 กิโลกรัม ภายในวัดมีทองคำสำรองในคลังทั้งหมด 52 ตัน! มูลค่าประมาณ 3,700,000 ล้านรูปี ขนมลัฑฑูที่ใช้สักการะขายได้มากถึง 150,000 ลูกต่อวัน รายได้จากการขายขนมตกปีละ 11 ล้านรูปี และเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านรูปีต่อปีเลยทีเดียว

อันดับที่ 1 วัดปัทมานาภะ สวามี (Padma-nabha Swami Temple)

ตั้งอยู่ที่เมืองติรุวานันตปุรัม (Thiruva-nanthapuram) รัฐเกรละ ทางใต้ของอินเดีย สร้างด้วยสถาปัตยกรรมผสมระหว่างแบบเกรละกับแบบทมิฬ สร้างถวายแด่ ปรพรหมัน มหาวิษณุ หรือ อทินารายณ์ ที่ประดิษฐานอยู่ในท่าอนันตศัยนัม (Ananta Shayanam) หรือโยคนิทราเหนือบัลลังก์อทิเศษนาค ที่เชื่อว่าเป็นการบรรทมไปนานแสนนานชั่วกัลปาวสาน แต่คนทั่วไปจะเรียกว่า พระปัทมนาภะ เป็นเทพเจ้าประจำ ราชวงศ์ติรุตัมกูร (Thiruthamkoor) ราชวงศ์เก่าแก่ที่ดูแลเมืองนี้และวัดนี้มาช้านาน และชื่อเมืองติรุวานันตปุรัม ก็แปลว่า เมืองของพระอนันตะ ซึ่งหมายถึงเทวรูปในวัดนี้เอง

วัดปัทมานาภะ สวามี
วัดปัทมานาภะ สวามี

ทรัพย์สินของวัดถูกดูแลจัดการโดยราชนิกุล ของราชวงศ์ติรุตัมกูรมาช้านาน จนเกิดการฟ้องร้องกันบางประการขึ้น ทำให้ทั่วโลกจับตามองมาที่วัดนี้ จนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2011 ศาลสูงสุดของอินเดียได้ตัดสินให้เปิดห้องลับใต้ดินภายในวัดแห่งนี้ เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ หลังจากถูกเก็บเป็น ความลับมานานนับศตวรรษ การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีห้องลับทั้งหมด 6 ห้อง แต่มีรายงานเพิ่มเติมในปี 2014 ว่าพบเพิ่มอีก 2 ห้อง โดยเรียกว่าห้อง A-H ซึ่งบางห้องไม่เคยถูกเปิดออกเลยนานนับศตวรรษ

จากการตรวจสอบห้อง A, C, D, E และ F พบทรัพย์สินและสมบัติมหาศาลอยู่ภายใน เช่น เทวรูปพระวิษณุทองคำบริสุทธิ์สูง 3.5 ฟุต โซ่ทองคำยาว 18 ฟุต ทองคำหนักรวมกว่า 500 กิโลกรัม ผ้าปักทองหนัก 36 กิโลกรัม เหรียญทองที่ห่อหุ้มด้วยอัญมณี กระสอบบรรจุสร้อยทอง เพชร ทับทิม ไพลิน มรกตและโลหะมีค่าอื่นๆ เครื่องอลังการที่ใช้ประดับเทวรูปหนักกว่า 30 กิโลกรัม กะลามะพร้าวทองคำประดับทับทิมและมรกต เหรียญทองสมัยจักรพรรดินโปเลียน และเหรียญทองนับแสนเหรียญสมัยจักรวรรดิโรมันด้วย เหรียญทองบรรจุห่อหนัก 800 กิโลกรัม อายุประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล แต่ละเหรียญมูลค่าในปัจจุบันประมาณเหรียญละ 27 ล้านรูปี บัลลังก์ทองคำประดับเพชรและอัญมณีเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปที่ยาว 18 ฟุต ทั้งยังพบมงกุฎทองคำ เก้าอี้ทองคำนับร้อย และหม้อทองคำอีกนับพัน ซึ่งการเปิดเผยรายการทรัพย์สินอันมโหฬารนี้ ทำให้วัดนี้กลายเป็นศาสนสถานที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดียและในโลกด้วย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 1.2 ล้านล้านรูปี!!! และหากถูกนำเข้าบัญชีทรัพย์สินอย่างเป็นทางการอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าในตลาดปัจจุบัน

ทรัพย์สินมากมายมหาศาลนี้เชื่อว่าถูกสะสมมานานนับพันปี จากการบริจาคของผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งศาสนิกชนและจากการค้ากับแหล่งอารยธรรมอื่นๆ และถูกตกทอดมายังปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมยอดบริจาคอีกประมาณ 5,000 ล้านรูปีต่อปีด้วย และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้วัดนี้เป็นวัดที่มั่งคั่งที่สุดอันดับ 1 ของอินเดียและของโลกครับ!

ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : อารยัน