ตามธรรมชาตินั้น รากฐานของโมเลกุลโปรตีนจะรวมตัวกันเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น คอลลาเจนที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย จะมีวิธีการจัดระเบียบให้เกิดความแข็งแรงและยืดหยุ่น โดยบรรดาโมเลกุลโปรตีนขนาดเล็กจะประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือยาวได้เท่ากับเส้นเอ็น

ล่าสุด มีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสาร Nature Chemistry นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาเคมี ชีววิทยา มหาวิทยาลัยรัทเกอร์สนิว บรันสวิก ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองดัดแปลงรากฐานของโปรตีน ดีเอ็นเอ และไขมัน เลียนแบบธรรมชาติและสร้างรูปทรงโครงสร้างที่น่าสนใจและมีประโยชน์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนโปรตีนให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่จำกัด ด้วยการพัฒนาเทคนิคในการรวบรวมโปรตีนให้เป็นวัตถุทางเรขาคณิตที่มีการทำซ้ำไปซ้ำมา จนได้รูปทรงคล้ายดอกไม้ ต้นไม้ หรือเกล็ดหิมะ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการสร้างโปรตีนที่ไม่จำกัดรูปแบบ จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นทางชีวภาพในเซลล์เนื้อเยื่อหรือสิ่งมีชีวิต ซึ่งเทคนิคนี้อาจนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น สามารถช่วยกรองของเสียหรือสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในรูปแบบของเหลวออกจากเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้ รวมถึงนำไปศึกษาโรคของมนุษย์ หรือด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูปรับปรุงหรือรักษาเนื้อเยื่อและอวัยวะที่เสียหายได้.