(Credit : Massachusetts Institute of Technology)
ดาวเทียมเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite-TESS) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ส่งขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อปี พ.ศ.2561 เพื่อใช้สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ๆ โดยเจาะจงดาวเคราะห์ที่น่าจะเอื้อต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต และจะใช้เวลาราว 2 ปีทำแผนที่ทรงกลมของท้องฟ้า
งานวิจัยล่าสุดของทีมนักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต ในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าการสำรวจของดาวเทียมเทสส์นั้นสามารถใช้ในการตรวจสอบซุปเปอร์โนวา (supernova) หรือเหตุการณ์ดาวฤกษ์ระเบิดเมื่อสิ้นอายุขัยบางประเภทได้ นั่นคือการระเบิดของดาวแคระขาว ที่ถือเป็นซุปเปอร์โนวาประเภท 1a จะเกิดขึ้นได้เมื่อดาว 2 ดวงโคจรรอบกันและกันโดยดาวดวงหนึ่งในนั้นคือดาวแคระขาว แต่ถ้าดาวแคระขาวและดาวดวงอื่นอยู่ในระบบดาวคู่ ดาวแคระขาวจะค่อยๆ ดึงมวลจากดาวฤกษ์อื่นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดดาวแคระขาวก็ระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวา
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับซุปเปอร์โนวาประเภทนี้ คือไฮโดรเจนที่เห็นในสเปกตรัมของมัน หรือเรียกว่าธาตุที่ถูกทิ้งไว้หลังจากการระเบิด นักดาราศาสตร์มองหาไฮโดรเจนและฮีเลียมในสเปกตรัมของซุปเปอร์โนวาประเภทนี้มานานหลายปี องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดซุปเปอร์โนวา ดังนั้น ข้อมูลจากดาวเทียมเทสส์ อาจเพิ่มข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆที่หลงเหลือจากการระเบิดนั่นเอง.
...