เมืองคามิคัตสึ เป็นเมืองขนาดเล็กๆที่มีประชากรอาศัยอยู่ราวๆ 1,500 คน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้ได้ร่วมทำภารกิจใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “ซีโร่-เวสต์” (zero-waste) โดยมีเป้าหมายคือการ “ลดขยะของเมืองให้เป็นศูนย์” ซึ่งตั้งเป้าว่าจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2563 ในการลงมือลงแรงช่วยกันคัดแยกขยะ มุ่งส่งขยะไปรีไซเคิลให้ ได้ 100% ปิดหน-ทางการนำขยะเข้าเตาเผา

สิ่งที่ชาวเมืองคามิคัตสึทำก็คือ คัดแยกขยะถึง 45 ประเภท ตั้งแต่หมอนไปจนถึงกระดาษและเหล็ก โดยต้องขนขยะเหล่านี้ไปยังโรงเก็บขยะท้องถิ่นด้วยตัวเอง

หากเป็นขยะพลาสติก ขวดหรือเหล็ก ก็ต้องล้างทำความสะอาด ตากหรือผึ่งให้แห้งเพื่อง่ายต่อการรีไซเคิล

เดิมที ชาวเมืองคามิคัตสึมีขยะต้องคัดแยกอยู่เพียงไม่กี่ประเภท ซึ่งก็เหมือนกับที่อื่นๆในญี่ปุ่น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2543 โรงเผาขยะของเมืองคามิคัตสึที่มีอยู่ 2 แห่งนั้น ถูกสั่งปิดไปหนึ่งแห่ง เนื่องจากก่อมลพิษเกินค่ามาตรฐาน

เมื่อเหลือโรงเผาขยะเพียงที่เดียว เมืองจึงต้องหาทางเลือกใหม่ พวกเขาได้ฉันทามติและหลักปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะประหยัดกว่าการที่จะนำงบประมาณไปปรับปรุงหรือสร้างโรงเผาขยะใหม่

...

มิโดริ ซุหงะ เจ้าหน้าที่เมืองคามิคัตสึ เผยว่า พวกเขาคิดทบทวนจนตกผลึกว่า เมื่อเผาขยะไม่ได้ก็น่าจะใช้วิธีรีไซเคิล ที่ประหยัดงบใช้จ่ายได้มากกว่าการเผา

ขณะที่ชาวเมืองก็ร่วมแรงร่วมใจกับแนวคิดนี้โดยไม่เกี่ยงงอน ชาวเมืองบางรายถึงกับยอมรับว่าภารกิจ “ซีโร่-เวสต์” ทำให้เกิดความตระหนักรู้รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ทำไปทำมา ชาวเมืองคามิคัตสึดูเหมือนจะเข้าใกล้เป้าหมายแล้ว จากข้อมูลปี พ.ศ.2560 พบว่ามีการรีไซเคิลขยะได้ราว 80% ของขยะรวมทั้งหมด 286 ตัน หรือ 286,000 กิโลกรัม

เรียกว่างานนี้เป็นการหันมามุ่งเน้นแก้ปัญหากันเอง ในขณะที่เมืองใหญ่อื่นๆในญี่ปุ่นอาจเลียนแบบได้ยาก เข้าข่ายว่าเมื่อจำนวนคนเยอะปัญหาก็แยะตามไปด้วย

กรณีของเมืองคามิคัตสึ ถูกนำเสนอขึ้นมาในจังหวะเดียวกับที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น มีการจัดสรรงบ 18.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 595 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อพัฒนาข้อเสนอและสู้การประมูลงานบริหารจัดการขยะในกลุ่มประเทศอาเซียน

เป้าหมายก็คือช่วยบริษัทญี่ปุ่นได้งานประมูลจัดการปัญหาขยะ โดยเปิดตัวโครงการเป็นทางการในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 จัดขึ้นที่นครโอซากา ช่วงวันที่ 28-29 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งถือเป็นการโปรโมตข้อดีในการลดมลพิษที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการ อีกทั้งยังแสดงออกถึงความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ตั้งเป้าช่วยขายโรงแปรรูปขยะ และโรงบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร เพื่อเจาะคุมตลาดก่อนจีนที่ขายเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะด้วย แต่ญี่ปุ่นวางจุดยืนของตัวเองเป็นผู้ให้บริการจัด การขยะครอบคลุมได้มากกว่า โดยเสนอแพ็กเกจบริการรวมทั้งระบบกำจัดขยะ การฝึกอบรมบุคลากร และรีไซเคิลหามาตรการที่เหมาะสมและตอบโจทย์ของแต่ละประเทศ

และเพื่อการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ดึงหุ้นส่วนมาร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนกับภาครัฐท้องถิ่นหลายภูมิภาคที่เชี่ยวชาญกันคนละด้านในเรื่องบริหารจัดการขยะ เช่น การจัดเก็บและคัดแยกขยะ โดยบริษัทเอกชนญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายนำเสนอแผนโครงการที่ออกแบบหรือทำขึ้นเป็นการเฉพาะ จากนั้นก็จะนำไปเสนอการประมูลช่วยจัดการปัญหาขยะในอาเซียนต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเองมีประสบการณ์จัดการปัญหาขยะมานานกว่าครึ่งศตวรรษ นับแต่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตขยายตัวเฟื่องฟูมากๆ ในช่วงทศวรรษ 1960 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวแดนอาทิตย์อุทัยต้องเร่งหานวัตกรรมจัดการปัญหาขยะล้นเมือง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นมีโรงแปลงขยะเป็นพลังงานทั่วประเทศไปแล้วถึง 380 แห่ง และหากเป็นไปตามที่คาดหวัง ญี่ปุ่นจะใช้กระบวนการความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้อย่างเต็มสรรพกำลังเพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินตรา เพราะตลาดโลกด้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะหอมหวนไม่ใช่เล่น คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.56 ล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ.2565 เลยทีเดียว

...

เรียกว่าเป็นความท้าทายไม่น้อย ซึ่งต้องติดตามกันดูต่อไปว่าญี่ปุ่นจะเดินหน้าไปตามที่คาดหวังไว้ได้หรือไม่ ท่ามกลางการตื่นตัวกับปัญหาขยะล้นโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อจีนที่เคยเป็นตลาดขยะรีไซเคิลของโลก ได้เข้มงวดกับการนำเข้าขยะรีไซเคิล และเมื่อเป็นเช่นนี้ ไอเดียของญี่ปุ่นอาจเปรียบได้กับการวางสินค้า และขายได้หมดแผงโดยทันที ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะทั้งโลกแทบจะประสบปัญหาเดียวกัน

ส่วนกลุ่มประเทศเป้าหมายในภูมิภาคอาเซียนยิ่งแล้วใหญ่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ต่างกำลังปวดหัวกับปัญหาขยะและมลพิษ หลังจากถูกละเลยและซุกอยู่ใต้พรมมานาน.

@ฒ.คอกาแฟ