เผย ผลสำรวจขององค์กรไม่แสวงกำไรทางการแพทย์ ในอังกฤษ ออกมาผู้คนใน 140 ประเทศเชื่อมั่นการฉีดวัคซีนน้อยลง ขณะที่องค์กรอนามัยโลกกังวล การที่ผู้คนลังเลฉีดวัคซีน เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามวิกฤติระดับโลก

เมื่อ 19 มิ.ย.62 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการแพทย์ เวลล์คอม ทรัส ของอังกฤษ เปิดเผยรายงานผลสำรวจอันน่าตกใจ ถึงเรื่องความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน โดยผลสำรวจจากการสอบถามประชากร 140,000 คน ใน 140 ประเทศ พบว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ไม่มั่นใจหรือไม่เชื่ออย่างหนักแน่นว่า การฉีดวัคซีนเข้าร่างกายมีความปลอดภัย ส่วนอีก 79 เปอร์เซ็นต์ เชื่อบ้างหรือเชื่ออย่างมั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัย

สำหรับคำถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 5 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่มั่นใจหรือไม่เชื่ออย่างหนักแน่นว่าจะได้ผล ส่วนอีก 84 เปอร์เซ็นต์ เชื่อบ้างหรือเชื่ออย่างมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนได้ผล

ด้านดร.แอน ลินด์แสตรนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันประจำองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (WHO) มองว่านับเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวล เพราะการลังเลที่จะฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน ถือเป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าโลก ในการควบคุมโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และดับเบิลยูเอชโอก็จัดให้การลังเลที่จะฉีดวัคซีน เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ระดับโลก

...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ความไม่เชื่อใจในวัคซีนเป็นการสร้างความเสี่ยงให้โรคที่ถูกควบคุมกลับมาแพร่ระบาดได้ใหม่ อย่างโรคหัด (Measles) ที่มีอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 นอกจากนี้ ผลสำรวจของเวลล์คอม ทรัส ยังพบว่า กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มีความเชื่อมั่นลดลงเรื่องการฉีดวัคซีน

ขณะที่แบ่งผลสำรวจเป็นภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรปเหนือ มีความเชื่อมั่นว่าวัคซีนปลอดภัย 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก มีความเชื่อมั่นว่าวัคซีน ปลอดภัยเพียง 59 เปอร์เซ็นต์ และ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเชื่อมั่นในวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันยังคงสูงเกิน 80 เปอร์เซ็นต์

แม้องค์กรไม่แสวงผลกำไรเวลล์คอม จะมิได้เปิดเผยว่าทำไมคนถึงเชื่อมั่นในวัคซีนน้อยลง แต่นักวิชาการในอังกฤษเชื่อว่า มาจากหลายปัจจัยรวมทั้งการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างผิดๆ ในอินเทอร์เน็ต