ถึงวันนี้ คงต้องยอมรับปรากฏการณ์ ‘กัญชาฟีเวอร์’ กระแสกัญชากำลังมาแรงอย่างคาดไม่ถึง มีรัฐบาลกว่า 30 ประเทศและหลายรัฐ รวมถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยของเรา ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ได้แล้ว หลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้จัดให้กัญชา พืชล้มลุกที่มีใบเป็นแฉกสวยเก๋นี้ เป็นยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากมีฤทธิ์ร้ายแรงต่อระบบประสาท หากใช้ในปริมาณที่มากเกินความพอดี
หากย้อนเวลากลับไปเพียง 5-6 ปีที่แล้ว ก่อนจะเกิดกระแสกัญชาฟีเวอร์อย่างทุกวันนี้ เหล่าบุปผาชนและผู้คนไม่น้อยพยายามเชียร์ให้รัฐบาลประเทศตน อนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี หรืออย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ กระทั่งรัฐบาลอุรุกวัย ประเทศเล็กๆ เป็นอันดับ 2 ของทวีปอเมริกาใต้ สร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นชาติแรกของโลกที่ออกกฎหมายให้ประชาชนในประเทศได้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีในปี 2556
*อุรุกวัย นำร่อง-ชาติแรกในโลก ‘ไฟเขียว’ เปิดกัญชาเสรี
‘ในดีมีเสีย ในเสียมีดี’ ธรรมชาติเหมือนจะทดสอบกิเลสของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดมีต้นกัญชาขึ้นมาบนโลก เพราะพืชล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร มีใบเป็นแฉก และทุกแฉกจะมีรอยหยักเป็นเอกลักษณ์ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้านนั้น ได้กลายเป็น ‘ต้นไม้สวรรค์’ ที่สร้างเสียงหัวเราะ คลายทุกข์โศกให้กับผู้คนที่ได้ลองลิ้มเสพกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกของมันหลังจากนำมาตากแห้ง จุดสูบ
แต่ขึ้นชื่อว่า ยาเสพติด คือ ใครเสพก็ติด-ติดแล้วก็เลิกยาก ถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อคนสูบกัญชานานวันเข้า ก็กลายเป็นยาเสพติดให้โทษ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นโทษต่อสุขภาพกายและจิต ทว่าท่ามกลางพิษภัยของผู้เสพกัญชาจนติด ขณะเดียวกัน เมื่อนำพืชล้มลุกชนิดนี้มาผลิต สารสกัดน้ำมันกัญชา กลับมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ทางการแพทย์
...
*หวังสู้กับสงครามยาเสพติด
อุรุกวัยเหมือนกับประเทศต่างๆ บนโลกนี้ ที่ต้องต่อสู้กับปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ของชาติมายาวนาน เพราะมีแก๊งอาชญากรทั้งในชาติ ข้ามชาติ และผู้คนที่ไม่กลัวคุกกลัวตะราง หวังรวยเร็ว รวยทางลัด ไม่กลัวบาปกรรม แสวงประโยชน์จากการขายยาเสพติด ซึ่งนั่นรวมถึงกัญชา
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอุรุกวัยจึงอยากจะต่อสู้กับปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด ด้วยการตัดวงจรอุบาทว์ระหว่างแก๊งค้ายากับการลักลอบขายกัญชา ที่ดูจะเป็นยาเสพติดที่มีพิษภัยน้อยกว่ายาเสพติดร้ายแรงประเภทอื่น โดยให้การซื้อขายกัญชาในประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อุรุกวัยมีการออกกฎหมายอนุญาตให้ กัญชา ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ก่อนในปีแรก ก่อนต่อมา สภาจะ ‘ไฟเขียว’ ผ่านร่างกฎหมายให้ประชาชนสามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ และบังคับใช้กฎหมายในปี 2556 จนอุรุกวัยกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่เปิดกัญชาเสรีให้ผู้คนซื้อหามาเสพได้ เพื่อสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แต่ก็อนุญาตให้สามารถซื้อกัญชาได้เฉพาะร้านขายยาที่มีสิทธิ์จำหน่ายกัญชาเท่านั้น
*กว่า 30 ชาติเปิดกว้าง อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว
การเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนทั่วโลกต่อกัญชา ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลชาติตน ออกกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จนปัจจุบัน มีรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก กว่า 30 ประเทศแล้ว ที่ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วย รวมทั้ง อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ชิลี, โคลอมเบีย, โครเอเชีย, ไซปรัส, ฟินแลนด์, เยอรมนี, กรีซ, อิสราเอล, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, มาเซโดเนียเหนือ, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, เปรู, โปแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และไทย ซึ่งเป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย
ในขณะที่บางประเทศยังคงบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นในการใช้กัญชาในรูปของยาที่ได้จากกัญชาเท่านั้น อย่างเช่น Sativex, Marinol
...
*แคนาดา ชูธงประเทศที่ 2 ของโลก เปิดกัญชาเสรี
รัฐบาลนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ตามติดมาเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ต่อจากอุรุกวัย ที่ออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวแคนาดาที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถครอบครองและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ในขณะที่ได้อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2554
โดยก่อนหน้านั้น การครอบครองกัญชาในแคนาดา ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มาตั้งแต่ปี 2466 หรือ 95 ปี นานเกือบจะร่วม 1 ศตวรรษเลยทีเดียว
สำหรับกฎหมายให้ครอบครองและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในแคนาดานั้น ได้กำหนดให้ประชาชนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถซื้อน้ำมันกัญชา เมล็ด ต้นกัญชา และกัญชาตากแห้งจากร้านค้าและผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาต และสามารถครอบครองกัญชาในที่สาธารณะได้สูงสุด 30 กรัม ปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 4 ต้นต่อครัวเรือน ส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดรับประทาน หรืออาหารที่ผสมกัญชา จะยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายในทันที แต่จะสามารถวางขายได้ภายใน 1 ปี หลังจากเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
สำหรับการซื้อกัญชาจากร้านค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหากร้านค้าขายกัญชาให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี มีโทษจำคุกถึง 14 ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลกลางแคนาดาได้ให้แต่ละรัฐและดินแดนของแคนาดาเป็นผู้กำหนดรายละเอียดในการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่กันเอง
...
*หวังป้องกันไม่ให้อาชญากรแสวงหาประโยชน์จากกัญชา
เหตุผลที่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา ผลักดันกฎหมายเปิดกัญชาเสรีจนผ่านสภาสำเร็จ ตามที่เขาได้หาเสียงตอนเลือกตั้ง เพราะเห็นว่ากฎหมายนี้จะช่วยแก้ปัญหาไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงกัญชาโดยง่าย ด้วยการแอบซื้อจากแก๊งค้ายา และป้องกันไม่ให้อาชญากรหาผลกำไรจากการขายกัญชาให้กับเยาวชน รวมทั้งผู้คนที่ชอบเสพมัน
บีบีซี รายงานว่า สถาบันสถิติของแคนาดาได้ประเมินว่า ในปี 2558 ชาวแคนาดาใช้จ่ายเงินไปกับการซื้อกัญชามาเสพถึงราว 60,000 ล้านเหรียญแคนาดา หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งพอๆ กับจำนวนเงินที่ชาวแคนาดานำไปซื้อไวน์มาดื่มเลยทีเดียว
*เม็กซิโก เล็งเป็นประเทศที่ 3 ผลักดันเปิดกัญชาเสรี
รัฐบาลใหม่ของเม็กซิโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ได้มีการผลักดันร่างกฎหมาย อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และสันทนาการ ถึงแม้ เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลสูงของเม็กซิโกได้มีการวินิจฉัยห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในประเทศเม็กซิโกอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ถ้าร่างกฎหมายเปิดกัญชาเสรี รัฐบาลประธานาธิบดีโอบราดอร์ สามารถผลักดันเข้าสภาและผ่านการเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาสำเร็จ จะทำให้เม็กซิโกเป็นประเทศที่ 3 ที่อนุญาตให้ประชาชนครอบครองและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ
...
*สถานการณ์ ‘กัญชา’ ในแดนดินถิ่นบุปผาชน
สำหรับสถานการณ์ กัญชา ในสหรัฐฯ ประเทศที่คนหนุ่มคนสาวเคยสร้างวัฒนธรรม ‘ฮิปปี้’ พวกบุปผาชน รัก-อิสระเสรี เสพกัญชากันควันโขมง ในยุคทศวรรษ 1960 มาแล้วนั้น ปัจจุบัน ในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ มีกฎหมายแตกต่างกันในเรื่องการอนุญาตใช้กัญชา
บีบีซีรายงานว่า หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับสงครามยาเสพติดที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ ได้ยอมถอย ไม่บังคับใช้กฎหมายในระดับรัฐบาลกลาง เปิดทางให้รัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ หานโยบายทางเลือกที่จะบังคับใช้กัญชาด้วยตนเอง
ทำให้ประชาชนในรัฐวอชิงตัน และโคโลราโด มีการลงคะแนนเสียง จนทั้งสองรัฐกลายเป็นสองรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่สามารถใช้กัญชาโดยไม่ต้องมีจุดประสงค์ทางการแพทย์ และต่อมามีอีก 8 รัฐในสหรัฐฯ รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ได้สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ ขณะที่การลงโทษต่อกัญชาในที่อื่นๆ ก็มีการผ่อนปรนทุเลาเบาลงด้วย
ในขณะที่ตอนนี้มี 33 รัฐ จาก 50 รัฐในสหรัฐฯ ที่ได้ออกกฎหมายอนุญาตใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้แล้ว
*หลายประเทศทั่วโลก กำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายกัญชา
ตอนนี้ มีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศกำลังผลักดันเรื่องกัญชาในประเทศของตนเอง โดยมีหลายประเทศ รวมทั้ง บราซิล จาไมกา และโปรตุเกส ที่ถึงแม้การขายกัญชายังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การครอบครองกัญชาในปริมาณเล็กน้อย ก็ไม่มีความผิดทางกฎหมายอีกต่อไป
ขณะที่ สเปน ไฟเขียวให้การใช้กัญชาในที่ส่วนตัวสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ส่วน เนเธอร์แลนด์ มีการอนุญาตให้ขายกัญชาได้อย่างเสรีในร้านกาแฟกันเลยทีเดียว
ขณะที่มีอีกหลายประเทศ อย่าง สหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้คลายกฎเรื่องกัญชาลง โดยอนุญาตให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยา เป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชา ให้แก่ผู้ป่วยได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา
*กัญชา ดีจริงหรือ? ในวันที่ทัศนคติชาวโลกเปลี่ยนไป
ท่ามกลางกระแสกัญชาฟีเวอร์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่นนี้ จากการที่ ทัศนคติของผู้คนที่เคยมีต่อกัญชาเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย ช่วยผ่อนคลาย บรรเทาความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง ไปจนถึงการหวังปราบปรามการลักลอบซื้อกัญชาอย่างผิดกฎหมาย
แต่คำถามสำคัญที่ยังคงมีอยู่ในใจของผู้คัดค้าน-ยังไม่เห็นด้วยอย่างเต็มร้อยในการออกกฎหมายอนุญาตเรื่องกัญชาในประเทศของตน เพราะทราบกันดีว่า พิษภัยของกัญชา หากมีการเสพในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีผลร้ายต่อสุขภาพ สามารถทำให้มีอาการมึนงง วิตกกังวล หวาดระแวง การใช้กัญชาบ่อยๆ มีความเชื่อมโยงทำให้เสี่ยงเป็นโรคทางจิตเพิ่มขึ้น ยิ่งหากสูบกับบุหรี่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคต่างๆ อย่างโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกเหนือจากนั้น ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นอีกหลายเรื่องถึงผลเสียในเรื่องต่างๆ ที่จะเกิดตามมา หากมีการออกกฎหมายอนุญาตในการใช้กัญชาในประเทศ ใครที่เป็นฝ่ายจะได้ประโยชน์แอบแฝงจากการผลักดันให้ออกกฎหมายอนุญาตเรื่องกัญชา การรักษากฎหมายตามข้อบังคับ เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศของตนสามารถจับกุมลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายกัญชาได้จริงๆหรือไม่.