พ.ศ.2561 สหรัฐฯลงทุนในไทย 38 โครงการ มูลค่ารวม 333,955 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนเป็นอันดับ 2 มูลค่ารวม 74,416 ล้านบาท และอันดับ 3 คือจีน มูลค่ารวม 59,475 ล้านบาท สรุปเมื่อปีที่แล้ว ต่างชาติยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 1,040 โครงการ มูลค่ารวม 582,558 ล้านบาท นับว่าไม่มากนะครับ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดและประชากรพอๆกับเรา
สหรัฐฯมีกรอบ US-Lower Mekong Initiative เป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคที่สหรัฐฯเริ่มขึ้นเพื่อขยายอิทธิพลเข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นกรอบที่สหรัฐฯใช้แข่งอิทธิพลกับจีน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกรอบฯนี้เท่าที่ควร
ทั้งๆที่ในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ เราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากมีรัฐบาลใหม่ ผู้ดูแลการต่างประเทศของไทยต้องใช้กรอบ US-Lower Mekong Initiative ให้มากขึ้น
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะต้องใช้เวทีอาเซียนวางยุทธศาสตร์ต่อรองกับสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ต้องผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯเพิ่มบทบาทในเวทีอาเซียนให้มากขึ้น ยุทธศาสตร์และเวทีต่างๆ ต้องนำมาใช้ทั้งหมดครับ ไม่ว่าทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี ที่ผ่านมาเราละเลยเรื่องไตรภาคีที่น่าสนใจและคิดว่าสหรัฐฯเอาด้วยอย่างแน่นอนก็เช่น ไตรภาคีสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และไทย
การซ้อมคอบร้าโกลด์ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ก็เป็นการซ้อมคล้ายพหุภาคีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลใหม่ควรจะผลักดันการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ในระดับพหุภาคีอย่างเต็มรูปแบบเสียที แต่ก่อนง่อนชะไร ไทยเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรหลักของสหรัฐฯ แต่หลังจากมีรัฐประหารหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ครั้งหลัง เมื่อ พ.ศ.2549 และ 2557 ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหายมาก เราไม่สามารถแสดงบทบาททางการทูตในเชิงรุกได้ จะกระดิกพลิกตัวไปขอเจรจากับใคร อีกฝ่ายหนึ่งก็รังเกียจ หลายครั้งต้องบินไปแบบหลบๆซ่อนๆ หลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 แล้ว เราต้องรักษาสถานะความเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยให้ยืนยาว เพื่อให้การต่างประเทศของไทยไม่มีจุดอ่อนหรือปมด้อย เมื่อไปเจรจากับต่างประเทศ
...
หลายประเทศมองไทยเป็นประเทศที่ราคาน้อยด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ภาพลักษณ์อย่างนี้ทำให้เรื่องอื่นพลอยเสียไปด้วยครับ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ที่เห็นตัวเลขและโครงการมาลงทุนกันมากๆ เราก็ถูกต่อรองเสียจนประเทศและประชาชนแทบไม่ได้อะไร เมื่อก่อนเรายอมยกเว้นภาษี เพราะหวังจะให้ประชาชนมีงานทำ อยากได้ค่าแรงประมาณร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิต แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แรงงานไม่จำเป็นมากนัก เขียนให้เข้าใจง่ายและเข้าใจตรงกันก็คือ นักลงทุนต่างชาติมาใช้สถานที่ของเราผลิตสินค้าและบริการแทบจะฟรีนั่นเอง
เพื่อนบ้านหลายประเทศที่ไม่รักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดี บางครั้งกลัวสหรัฐฯ จนลนลาน และคลานเข้าหาจีน สุดท้ายก็ถูกจีนกินรวบ เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ผู้อ่านท่านครับ สหรัฐฯ ยังสำคัญสำหรับไทยครับ เพราะยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนเรื่องการลงทุน ก็สำคัญดังตัวเลขที่ผมยกมารับใช้ในย่อหน้าแรก เรื่องเทคโนโลยี สหรัฐฯก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร จะเป็นเรื่องดีไม่น้อยถ้าเราพึ่งพาเทคโนโลยีจากทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน
ประเทศที่ทำตัวเป็นศัตรูกับสหรัฐฯอย่างออกหน้าออกตา มักจะโดนสหรัฐฯแกล้ง บางทีก็ใช้พวกตะวันตกช่วยปิดล้อมจนไม่สามารถอยู่ได้แบบมีสถานะมั่นคงได้ เช่น เวเนซุเอลา เกาหลีเหนือ อิหร่าน คิวบา ฯลฯ แม้แต่เวียดนามที่โดนสหรัฐฯกระทำย่ำยีมาหลายสิบปี ถูกทิ้งระเบิดเป็นหมื่นเป็นแสนลูก คนญวนถูกฆ่าตายเป็นแสนคน เดี๋ยวนี้เวียดนามก็ยังไปหันมาญาติดีกับสหรัฐฯ เพื่อคานอำนาจกับจีน ถ้าเวียดนามไม่คบกับสหรัฐฯ ป่านนี้โดนจีนยำเละไปแล้ว
ค.ศ.2020 หลายประเทศมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ใหม่ ประเทศไทยจะต้องนำยุทธศาสตร์เหล่านั้นมาศึกษาอย่างจริงจัง และคบหาสมาคมกับประเทศต่างๆ ตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ใหม่ของแต่ละชาติรัฐครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com