สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ที่อุบัติขึ้นล่าสุด ทวีความร้อนแรงทะลุปรอท ทันทีที่อินเดียส่งฝูงบินรบข้ามเส้นแบ่งเขตหยุดยิง (LoC) ระหว่างสองประเทศ ในแคว้นแคชเมียร์ เข้าไปในน่านฟ้าปากีสถาน เมื่อ 26 ก.พ.62 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี เพื่อทิ้งระเบิดโจมตีค่ายฝึกกลุ่มติดอาวุธในปากีฯ

และรุ่งขึ้นถัดมา กองทัพอากาศปากีสถานตอบโต้อินเดีย ด้วยการ ยิงเครื่องบินขับไล่ MiG-21 ของกองทัพอากาศอินเดียตกถึง 2 ลำ และจับกุมนักบินอินเดีย 2 นาย คนหนึ่ง ชื่อ นาวาอากาศโท อภินันดัน ส่วนนักบินอีก 1 นายนั้น ปากีฯบอกว่า ได้รับบาดเจ็บและถูกส่งไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ในขณะที่ วันเดียวกัน ทางการอินเดียแจ้งว่า ปากีสถานฯยังได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 หลายลำข้ามเส้นแบ่งเขตเข้ามาในน่านฟ้าของอินเดีย แต่ถูกกองทัพอากาศอินเดียส่งเครื่องบินรบสกัดกั้น บังคับจนกลับออกไป

...

แน่นอน ความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานครั้งนี้ในแคว้นแคชเมียร์ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่ตึงเครียดสุด-รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่อินเดียกับปากีสถานทำสงครามกันในปี 2514 เลยทีเดียว

ที่สำคัญ สาเหตุที่นำมาสู่สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุด ก็มาจากปมความขัดแย้งเดิมๆ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของอินเดีย-ปากีสถานมายาวนาน นั่นคือ ข้อพิพาทในดินแดนแคว้นแคชเมียร์ รวมทั้งการก่อเหตุรุนแรงโจมตีทหารและตำรวจอินเดียโดยฝีมือกลุ่มติดอาวุธ Jaish-e-Mohammad (JeM) ซึ่งมีฐานอยู่ตามชายแดนแคว้นแคชเมียร์ในปากีสถานนั่นเอง

แผนที่ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ (สีแดง) ทางตอนเหนือของอินเดีย-ปากีสถาน
แผนที่ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ (สีแดง) ทางตอนเหนือของอินเดีย-ปากีสถาน

*ย้อนประวัติ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์

แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ เป็นดินแดนทางตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ มีพื้นที่ถึง 222,236 ตารางกิโลเมตร และดินแดนส่วนมากตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย

ในประวัติศาสตร์ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ เคยเป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา แต่ต่อมา ประชาชนส่วนใหญ่ ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิดุรรานีในอัฟกานิสถาน จักรวรรดิโมกุลในอินเดีย และเคยอยู่ใต้การปกครองของชาวซิกข์

ภายหลังขับไล่ชาวซิกข์ออกไปได้ ในยุคที่อังกฤษเข้ามา กษัตริย์ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ช่วยอังกฤษรบกับชาวซิกข์ จึงได้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ

*72 ปี ปมพิพาทแคชเมียร์

ชนวนความขัดแย้งดินแดนในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ (เรียกสั้นๆ คือแคชเมียร์) เกิดขึ้นหลังจากอังกฤษได้แบ่งบริติชราช ออกเป็นสองรัฐ เอกราช คืออินเดีย และปากีสถานเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2490 และทั้งสองประเทศต่างมีสถานะเป็นประเทศในเครือจักรภพ

รัฐจัมมูและแคชเมียร์(ในขณะนั้น) เป็นรัฐมหาราชา คั่นระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ทว่า ด้วยความที่ มหาราชา ฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคชเมียร์ในขณะนั้น ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู จึงเลือกยอมรับอินเดีย ทำให้ประชาชนในแคว้นแคชเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามลุกฮือต่อต้าน

...

จนทางการรัฐจัมมูและแคชเมียร์ต้องสังหารหมู่ชาวมุสลิมในแคชเมียร์จำนวนมาก จนพระราชอำนาจของ มหาราชาฮารี ซิงห์ เริ่มสั่นคลอน สูญเสียการควบคุมพื้นที่ของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ทางภาคตะวันตก

*สงครามอินเดีย-ปากีฯครั้งแรก อุบัติในปี 2490

สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แย่งชิงแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ครั้งแรก เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2490 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากมหาราชาฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคว้นแคชเมียร์ เลือกยอมรับอินเดีย โดยกองกำลังชนเผ่ามุสลิม ได้ข้ามพรมแดนเข้ามาจากฝั่งปากีสถาน อ้างว่าเข้ามาเพื่อหยุดยั้งการก่อกบฏในภาคตะวันตกเฉียงใต้ และมุ่งหน้าไปยังเมืองศรีนคร หรือศรีนาการ์ (Srinagar) แต่ถูกขัดขวางเมื่อมาถึงเมืองอุรี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับปากีสถาน

มหาราชาฮารี ซิงห์ จึงได้ร้องขอกำลังเสริมจากรัฐบาลอินเดีย และอินเดียก็ได้ส่งกำลังทหารมาช่วยเหลือแลกกับการที่แคว้นจัมมูและแคชเมียร์จะเข้ามาเป็นหนึ่งในแคว้นของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศนับถือฮินดูเหมือนกัน

...

จากนั้น สงครามการสู้รบได้ยืดเยื้อยาวนานนับ 2 ปี จนมาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2492 ซึ่งปากีสถานสามารถยึดดินแดนได้ราว 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ ในขณะที่สหประชาชาติได้เข้ามาเป็น ‘ตัวกลาง’ ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายยอมสงบศึก โดยให้มีการจัดตั้งเส้นแบ่งเขตหยุดยิงระหว่างอินเดียและปากีสถาน และบังคับให้มีการลงประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนในแคว้นแคชเมียร์ ทว่าจนมาถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ยังไม่เคยมีการจัดลงประชามติในแคว้นแคชเมียร์เลย

*เกิดสงครามครั้งที่ 2 ชิงแคชเมียร์ และการสู้รบย่อยๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หลังสงครามสงบมาได้ 16 ปี อินเดียและปากีสถานก็ทำสงครามครั้งที่ 2 แย่งชิงแคว้นแคชเมียร์กันอีก ในปี 2508 ส่งผลให้ทหารของทั้งสองประเทศเสียชีวิตหลายพันนาย

กระทั่งมาถึงปี 2515 อินเดียและปากีสถานได้ลงนามในข้อตกลงชิมลา กำหนดให้เปลี่ยนเส้นหยุดยิงเป็นเขตการควบคุม ระยะทาง 740 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นพรมแดนแบ่งพื้นที่การยึดครองแคว้นแคชเมียร์ของทั้งสองประเทศ

ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงจุดเดือดในปี 2532 เมื่อกลุ่มติดอาวุธมุสลิมเรียกร้องให้แคว้นแคชเมียร์แยกตัวจากอินเดีย จนเกิดการโจมตีพุ่งเป้าไปที่ชาวซิกข์และฮินดู ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดในแคว้นแคชเมียร์ ตั้งแต่ปี 2533-2560 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41,000 ราย

...

* ล่าสุด คาร์บอมบ์ สังหารโหด ตร.อินเดีย ดับสลดกว่า 40 ศพ

เหตุการวางระเบิดรถยนต์ฆ่าตัวตาย เพื่อหมายโจมตีขบวนรถคอนวอยของตำรวจปราบก่อการร้ายอินเดีย ที่เมืองพูลวามา แคว้นแคชเมียร์ เมื่อ 14ก.พ.62 ทำให้ตำรวจปราบก่อการร้ายอินเดียสิ้นชีวิตอย่างน้อย 40 นาย ถือเป็นเหตุรุนแรงที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอินเดียสังเวยชีวิตมากที่สุดในคราวเดียว ในรอบ 30 ปี

ต่อมา กลุ่มติดอาวุธ Jaish-e-Mohammad (JeM) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2543 และมีฐานที่มั่นริมชายแดนแคว้นแคชเมียร์ ฝั่งปากีสถาน ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ หลังจากที่ผ่านมา กลุ่ม JeM ได้ก่อเหตุรุนแรงโจมตีเจ้าหน้าที่ทางการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอินเดียในแคชเมียร์มาโดยตลอด

และนี่คือ ชนวนเหตุสำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลอินเดียยอมไม่ได้ ส่งฝูงบินรบบินข้ามเส้นแบ่งหยุดยิง เข้าไปทิ้งระเบิดถล่มค่ายฝึกก่อการร้ายของกลุ่ม JeM ในแคว้นแคชเมียร์ ฝั่งปากีสถาน เมื่อ 26 ก.พ.62

จนนำมาสู่ความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน สองประเทศซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองทั้งคู่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากผู้นำและรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกให้ทั้งสองประเทศ อดทน อดกลั้น อย่าสู้รบทำสงครามกันเลย...

อ่านข่าว