ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วเมื่อ 2 วันก่อนว่า ผมแวบไปเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว มา 2-3 วัน ด้วยวัตถุประสงค์หลักที่จะไปดูไปเห็นเขื่อนน้ำงึม ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าแห่งแรกของเขาที่มีประวัติยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีโน่นแล้ว

แต่เนื่องจากเกิดเหตุระทึกใจ และชวนให้เครียดขึ้นมาในวันเดินทาง ผมจึงต้องเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำร่วมกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่เกิดความรู้สึกในลักษณะเดียวกันขึ้น เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 8 ก.พ.

วันนี้ได้จังหวะที่จะเขียนถึง “เขื่อนน้ำงึม” หนึ่งในแบตเตอรี่หลายๆลูกที่ สปป.ลาว เขาจะใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านตามวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาประเทศ สปป.ลาวให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ที่เขาตั้งไว้

เมื่อเอ่ยถึง เขื่อนน้ำงึม หลายๆท่านคงจะได้ยินชื่อได้ยินการกล่าวขวัญถึงมาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี ดังที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น

เหตุเพราะ “โครงการน้ำงึม 1” ได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2511 และสามารถปั่นไฟออกจำหน่ายได้ตั้งแต่ พ.ศ.2514 เป็นต้นมา

การก่อสร้างเขื่อนน้ำงึมแห่งแรกได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก จากรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดที่เหลือจากการใช้ภายในประเทศลาวแล้ว

แม้เขื่อนน้ำงึม 1 จะมีขนาดไม่ใหญ่นักและมีกำลังการผลิตเพียง 155 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเตรียมตัวที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียในโอกาสต่อมา

อย่างไรก็ตาม ผลพลอยได้ที่สำคัญที่สุดของโครงการนํ้างึม 1 ก็คือ การเกิดขึ้นของอ่างเก็บนํ้าในหุบเขาขนาดใหญ่พอสมควรอ่างหนึ่ง

ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นแหล่งนํ้าในการชลประทานและอื่นๆแล้วยังกลายเป็น “ทะเลสาบ” เล็กๆ ที่ชาวลาวนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

...

ทำให้มีการก่อสร้างรีสอร์ต บ้านพัก และโรงแรม ตลอดจนร้านอาหาร และเรือท่องเที่ยว กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลาว ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นที่นิยมของชาวลาวเท่านั้น แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งจากประเทศไทยเราเองก็เดินทางไปพักค้างคืนจำนวนมาก

สำหรับ “เขื่อนนํ้างึม 2” หรือ “โครงการไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2” ที่ผมได้รับเชิญไปเยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นโครงการที่ 2 ของลำนํ้างึมซึ่งเป็นลำนํ้าที่ไหลมาจากที่ราบสูงเชียงขวางของลาว มีความยาวตลอดลำนํ้า 354 กิโลเมตร ไปบรรจบกับแม่นํ้าโขงที่เวียงจันทน์

โดยเขื่อน “นํ้างึม 2” จะอยู่ห่างจาก “นํ้างึม 1” ไปทางต้นนํ้าประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากเวียงจันทน์ 90 กิโลเมตร อยู่ระหว่างภูเขาภูแซ และภูฮวด นับเป็นเขื่อนกั้นนํ้าที่สวยงามอีกเขื่อนหนึ่ง

ที่สำคัญ โครงการนํ้างึม 2 เป็นโครงการที่บริหารจัดการโดยบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทไทยของเรานี่เอง โดยการเข้าไปจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในลาว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของลาว และเพื่อความคล่องตัวต่างๆ

ในการก่อสร้างก็ใช้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย และใช้วิศวกรไทยของเราเป็นหลัก ซึ่งก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วทันกำหนดการ จนสามารถปั่นกระแสไฟฟ้า และให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา

คณะของผมได้มีโอกาสนั่งรถจากเวียงจันทน์ไปเกือบ 90 กิโลเมตร แล้วไปลงเรือต่อ ผ่านทะเลสาบน้ำงึม 1 อันสวยงาม เพื่อไปขึ้นรถอีกฟากหนึ่งแล้วต่อไปที่น้ำงึม 2

เท่ากับใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกได้ 2 ตัว คือได้ทั้งสัมผัสบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำในน้ำงึม 1 แหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงของลาว และยังได้ไปดูงาน ซึ่งรวมทั้งขึ้นไปเดินบนสันเขื่อนน้ำงึม 2 ตามเป้าหมาย

เห็นแล้วก็ภูมิใจในฝีมือของบริษัทไทยของวิศวกรไทยที่สร้างได้อย่างแข็งแรงมั่นคง รวมทั้งดูแลด้านสิ่งแวดล้อมกับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างดียิ่ง จนได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลลาว ให้ไปก่อสร้าง เขื่อนไซยะบุรี อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผมเคยเขียนถึงเมื่อปีที่แล้ว

ผมขอสรุปภาพกว้างๆของ “น้ำงึม 2” โครงการของบริษัทไทยในลาวไว้เพียงเท่านี้นะครับ ถ้ามีจังหวะหรือมีโอกาสค่อยกลับ

มาเล่ากันใหม่ เพื่อให้เห็นภาพว่า โครงการ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” เต็มรูปแบบของลาวนั้น รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?

“ซูม”