คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นสู่ประเทศ 4.0” รับใช้นักบริหารท้องถิ่นระดับสูง รุ่นที่ 35 จันทร์วันนี้ 13.00-16.00 น. ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จ.ปทุมธานี

2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพาพ่อไปเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง และมาเมืองหลินกุ้ย เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง จากนั้นไปดูการก่อสร้างเขื่อนน้ำลิก 1 + ความก้าวหน้าของทางรถไฟความเร็วสูงสายบ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน) ไปเวียงจันทน์ + การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายวังเวียง - เวียงจันทน์

ที่เป็นข่าวใหญ่ในระดับเฉิงไฉ ไหลฟู่ ซูเสียน เสี่ยวเชี่ยน ประชาชนคนทั่วไปของจีนในขณะนี้สนใจมากก็คือ ข่าวสหรัฐฯ เปิดฉากสงครามการค้ากับจีนอย่างเป็นทางการ ข่าวมาเลเซียระงับโครงการรถไฟกับจีน และเรือล่มที่เกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต มีคนตายหลายสิบคน

ผมเคยเรียนรับใช้ในเปิดฟ้าส่องโลกมาหลายครั้งแล้วครับ ว่านักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทยสมัยนี้ ไม่ได้มาเป็นกรุ๊ปใหญ่หรือ GIT (Group Individual Travelers) เหมือนเมื่อก่อน ส่วนใหญ่จะซื้อแพ็กเกจทัวร์จากเอเย่นต์ทางออนไลน์ (OTA) และเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองแบบ FIT (Foreign Individual Tourism) นักท่องเที่ยวแบบ FIT มักจะเป็นคนหนุ่มสาว มาจากเมืองใหญ่ มีฐานะดี และไม่ไปซื้อของตามร้านที่บริษัททัวร์จัดให้เข้า

นักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแบบ FIT มาจากมณฑลรวยของจีน เช่น เจียงซู (GDP ต่อหัวเมื่อปีที่แล้วคือ 16,965 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เจ้อเจียง (14,630) กว่างตง (12,909) ฯลฯ แม้ว่าข่าวเรือล่มจะเป็นผลลบต่อการท่องเที่ยวของไทย แต่การกระดิกพลิกตัวของสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลของไทยในจีนทำงานอย่างหนักผ่านเวยโป๋ สื่อโซเชียลมีเดียของจีน การให้ข้อมูลแก่สาธารณะและอำนวยความสะดวกแก่ญาติของผู้ประสบเหตุอย่างไว ทำให้ไทยไม่ถูกโจมตีจากโซเชียลมีเดียจีน ซึ่งเป็นสื่อที่มี อิทธิพลที่สุดในขณะนี้

...

แต่ที่เสียชื่อเสียงหนักในโซเชียลมีเดียจีนกลับเป็นมาเลเซียที่ขัดขวางแผนยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2559 เริ่มก่อสร้างไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2560 และมีกำหนดการเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2573 มีความยาวทั้งสิ้น 688 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างรัฐปะหังกับชายแดนไทยใกล้กับทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา

คนมาเลเซีย รัฐบาลจีน และคนจีน มุ่งหวังตั้งใจกับโปรเจกต์เส้นทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก ก่อนหน้านี้ใครไปคุยกับคนมาเลเซีย ก็มักจะได้รับการคุยโม้โอ้อวดด้วยคำว่า ECRL ซึ่งเป็นตัวย่อของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่บริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชัน จำกัด หรือ CCCC ของจีนเป็นผู้ได้สัมปทาน ด้วยงบ ประมาณ 5.5 หมื่นล้านริงกิต (4.56 แสนล้านบาท)

ไม่เฉพาะยกเลิกโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟชายฝั่งตะวันออกเท่านั้น ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ยังประกาศยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงกับสิงคโปร์อีกด้วย

การประกาศศึกกับบริษัท ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชัน จำกัด ผมว่า ดร.มหาธีร์กำลังนำมาเลเซียไปสู่ความเสี่ยง เพราะรายได้ส่วนหนึ่งที่มาเลเซียใช้พยุงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศของตนเองอยู่นั้น มาจากการค้าขายกับจีน และการที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเยือนมาเลเซีย ผมเชื่อว่า งานนี้มาเลเซียได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะไม่ได้รถไฟความเร็วสูงความยาว 688 กิโลเมตร มาใช้งานแล้ว ยังเสียเงินกินเปล่า ซึ่งรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค ได้ชำระค่าธรรมเนียมล่วงหน้าให้กับ CCCC ไปแล้วมากกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท และจ่ายค่างวดงานไปแล้วอีก 8 หมื่นล้านบาท รวมเสียเงินไปแล้ว 1.6 แสนล้านบาท

แต่ถ้านับจากที่คนจีนทั้งประเทศแขยงแขงขนมาเลเซีย ไม่ค้าขายด้วย ไม่มาท่องเที่ยว ผมเชื่อว่าปีหนึ่งมาเลเซียจะเสียเกินหลายแสนล้านบาท 10 ปีก็เกินล้านล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้ เงินก็ไม่ได้ ถึงตอนนี้ หลายคนเริ่มมองเห็นเค้าลางร้ายของมาเลเซียว่าต่อไปในอนาคตอาจจะกลายเป็นประเทศลำบาก “เพราะคนจีนไม่เอา”.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com