ก่อนหน้านี้มีข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกรุงปารีสเมื่อเดือน ธ.ค.2558 ซึ่งสหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี พ.ศ.2573 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2533 โดยจะใช้พลังงานทดแทนอย่าง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ คิดเป็น 27% ของการใช้พลังงาน แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวดีสำหรับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อสหภาพยุโรปประกาศตกลงที่จะเพิ่มเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนโดยขยับตัวเลขขึ้นไปที่ 32% ภายในปี 2573

คณะกรรมาธิการด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของสหภาพยุโรป มีความพึงพอใจอย่างยิ่งกับเป้าหมายใหม่ของยุโรป เพราะจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงในปารีส เกิดการสร้างงาน รวมถึงให้ความมั่นใจแก่นักลงทุน ลดค่าพลังงานและการนำเข้าพลังงาน ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงที่รัฐสภายุโรปและสมาชิกจะต้องให้การอนุมัติขั้นสุดท้ายคือ ภายในปี พ.ศ.2573 เชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งอย่างน้อย 14% ต้องมาจากพลังงานทดแทน และกำหนดว่าเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นแรกจะต้องจำกัดไว้ที่ระดับ 2020 โดยไม่เกิน 7% ของการใช้พลังงานทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งในปี พ.ศ.2568 ส่วนแบ่งของเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูงและก๊าซชีวภาพต้องมีอย่างน้อย 1% และเมื่อถึงปี พ.ศ.2573 จะต้องมีอย่างน้อย 3.5% ส่วนธุรกิจน้ำมันปาล์มอันเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าจะต้องถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์อย่างกรีนพีซมองว่าเป้าหมาย 32% อาจยังต่ำเกินไป แต่ข้อตกลงดังกล่าวอาจนำไปสู่การใช้แผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์นับล้านหลังคาเรือนในยุโรป ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพลังงานได้ง่ายขึ้น.