เมื่อก่อน นายแซม มุง’อาลา เกษตรกรชาวเคนยา ยังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยการปลูกถั่วฝักยาวกับข้าวฟ่างหาเลี้ยงครอบครัว แต่มาปัจจุบัน เขามีเรื่องที่ต้องเดิมพันชีวิตมุ่งการค้าแนวใหม่ นั่นคือ ถุงผ้าช็อปปิ้ง

หนุ่มใต้จากเมืองคิบเวซีคนนี้ลงพื้นที่ปลูกและขาย ต้นซีซัล (sisal) หรือใยป่านศรนารายณ์ ที่พ่อค้าแม่ค้า หรือคนที่ค้าขายตามตลาดมักไว้ใช้ใส่ของ จาก ราคาเดิมกิโลกรัมละ 30 เคนยาชิลลิง หรือราวๆ 9.88 บาท ทุกวันนี้ นับแต่รัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก ทำให้ราคาพุ่งปรี๊ดขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 100 ชิลลิงหรือ 32 บาท

เนื่องจากว่า เมื่อปีกลาย รัฐบาลผ่านกฎหมายมุ่งลดปัญหามลภาวะจากพลาสติก ทำให้โรงงานผลิต ผู้ค้าจำหน่ายหรือแม้แต่คนที่ใช้พลาสติก หากยังละเมิด ก็เสี่ยงถูกดำเนินคดีเข้าคุกสูงสุด 4 ปี ปรับเป็นเงินอีก 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.3 ล้านบาท!!!

เลยทำให้ซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ๆ อย่าง คาร์ฟูร์ ของฝรั่งเศส กับ นากูมัตต์ ของเคนยาเอง เริ่มเสนอทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าหันไปใช้ถุงผ้าใส่ของ ส่งผลให้ตลาดต้องการถุงผ้าที่ใช้ป่านศรนารายณ์ในการผลิตมากขึ้น เกษตรกรก็ได้ผลประโยชน์จากการปลูก ด้วยคุณประโยชน์ที่ย่อยสลายได้เร็วและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งสามารถปลูกได้ในสภาพอากาศแล้ง ใช้พื้นที่น้อย

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เคนยาเป็นประเทศที่ปลูกต้นป่านศรนารายณ์รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หลังบราซิลกับแทนซาเนีย สร้างรายได้ต่อปี 2,000 ล้านชิลลิง หรือราวๆ 658 ล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินเพิ่มเป็น 50,000 ล้านชิลลิง หรือราวๆ 16,400 ล้านบาท

แต่ก็ต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า การใช้ถุงผ้าใยป่านนี้ถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง อย่างที่ จูเลียตต์ บิอาว คูเดโนวกโป ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแอฟริกา ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยว่า ราคาถุงผ้าแพงกว่าถุงพลาสติกถึง 2 เท่า คนจนรายได้น้อยซื้อไม่ไหว

...

ผู้เชี่ยวชาญต่างก็เสนอวิธีแก้ให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น เพื่อราคาในตลาดจะได้ถูกลง จนถึงใช้เมล็ดตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อต้านโรคไร้แมลง ทำให้ไม่ต้องใช้ปุ๋ยช่วยลดต้นทุน แถมยังช่วยลดมลภาวะทางเคมีอีกด้วย

หรืออีกทางเลือกหนึ่งง่ายๆ คือ แจกฟรี!!!

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ