Credit : Andrew Tanentzap
เมื่อเร็วๆ นี้นักพืชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากแคนาดาและเยอรมนี ได้ศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นเมื่อสารอินทรีย์สลายตัวในทะเลสาบน้ำจืด พบว่าปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นในทะเลสาบมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่มีสารอินทรีย์ตกตะกอนอยู่ในทะเลสาบ ทีมวิจัยได้ทดลองเอาตะกอนของทะเลสาบที่มีเศษซากพืช 3 ชนิด คือ ไม้ผลัดใบ ไม้สน และพืชที่เติบโตในน้ำตื้นจำพวก จาก แฝก กก มาบ่มในห้องทดลองเป็นเวลา 150 วัน
เมื่อสังเกตการดูดซึมและวัดปริมาณก๊าซมีเทนที่พืชเหล่านี้ผลิตออกมา พบว่าตะกอนของพืชน้ำตื้นก่อให้เกิดก๊าซมีเทนสูงกว่า 400 เท่าของตะกอนของต้นสน และพบมีเทนเกือบ 2,800 เท่าของตะกอนของไม้ผลัดใบ ทีมวิจัยเผยว่า ภาวะโลกร้อนสามารถทำให้พืชน้ำตื้นเจริญเติบโต โดยเฉพาะในทะเลสาบหลายแห่งทางซีกโลกเหนือกลายเป็นแหล่งก๊าซมีเทนที่กระตุ้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นอันตรายได้ถึง 2 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้า และการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงวงจรป้อนกลับ (feedback loop) ที่เกิดขึ้น ซึ่งการหยุดชะงักด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะขณะนี้ก็มีความกังวลถึงก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาจากแถบทวีปอาร์กติก ซึ่งพบว่าดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ได้ละลายอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ก๊าซมีเทนนับว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 25 เท่า ส่วนในระบบนิเวศของน้ำจืดมีส่วนปล่อยก๊าซมีเทนเกือบถึง 16% เมื่อเทียบกับเพียง 1% ของมหาสมุทรทั้งหมด.