ทราบกันดีนะครับว่า สหรัฐอเมริกาพยายามสกัดจีน หลายท่านสงสัยว่า แล้วพวกฝรั่งฝั่งยุโรปเล่า ปฏิบัติต่อจีนยังไง?

ฝรั่งฝั่งยุโรปปรารถนาดีต่อจีนมากพอสมควรนะครับ พอจีนเปิดประเทศเมื่อ พ.ศ.2518 ประชาคมยุโรปก็ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับจีน หนึ่งในบรรดากลุ่มประเทศที่ช่วยให้จีนลืมตาอ้าปากได้ก็คือสหภาพยุโรป ให้จีเอสพีแล้ว ประชาคมยุโรปยังขยายความตกลงว่าด้วยการค้าและความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจยุโรป-จีน พวกยุโรปจริงจังกับจีนขนาดไปตั้งคณะผู้แทนของคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงปักกิ่งเมื่อ พ.ศ.2531

สหภาพยุโรปมึนกับจีนไปพักหนึ่งตอนที่เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน แต่หลังจากนั้นก็ตระหนักว่า จีนจะต้องขึ้นมาเป็นมหาอำนาจชาติลำดับต้นของโลกอย่างแน่นอน ก็จึงพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างต่อเนื่อง มีทั้งออก policy paper หรือเอกสารนโยบายที่เกี่ยวกับจีน ที่ดังมากก็คือ “นโยบายระยะยาวสำหรับความสัมพันธ์จีน–ยุโรป”

เดิมพวกยุโรปมองจีนเป็นประเทศกำลัง (หรือด้อย) พัฒนา แต่พอเราได้อ่านเอกสารนโยบายฯ เล่มที่ออกเมื่อ พ.ศ.2538 ดูจากข้อความเรารู้ปั๊บเลยว่า ยุโรปมองว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลกมาตั้งแต่ปีนั้นแล้ว อีก 3 ปีต่อมา สหภาพยุโรปก็ออกเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “สร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ครบวงจรกับจีน”

พ.ศ.2544 สหภาพยุโรปออกเอกสาร “ยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปต่อจีน” เอกสารที่ออกตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ.2561 สหภาพยุโรปมองจีนในฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

ขณะที่สหภาพยุโรปออกเอกสารหลายอย่างที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับจีน จีนเงียบมาตลอด อาจจะเป็นเพราะคำสอนของเติ้งเสี่ยว–ผิงที่เป็นอักษร 24 อักษรคือ เฝ้ามองไม่ตระหนก มั่นคงในจุดยืน เผชิญสถานการณ์อย่างสงบ งำประกายเตรียมรอโอกาส อย่าออกหน้า และไม่แสดงความเป็นใหญ่ เอกสารของจีนที่มีต่อสหภาพยุโรปตั้งแต่แรกออกเมื่อ พ.ศ.2549 จีนบอกว่าอั๊ว 1. สนับสนุนบูรณาการของสหภาพยุโรป 2.เรียกร้องให้สหภาพยุโรปรับรองสถานะเศรษฐกิจระบบตลาดอย่างสมบูรณ์ต่อจีน 3.เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในจีน

...

อ่านเอกสารของจีนแล้ว สหภาพยุโรปก็ออกเอกสารที่มีชื่อว่า “สหภาพยุโรป-จีน : หุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น” สหภาพยุโรปเสนอยุทธศาสตร์ 5 ขาคือ สนับสนุนให้จีนเปลี่ยนผ่านไปสู่พหุสังคม ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

สมัยที่ยังกะปลกกะเปลี้ย จีนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมาลงทุนในจีน แต่ตอนนี้กลับกันแล้วครับ จีนลงทุนในสหภาพยุโรปมากมายทั้งทางด้านการธนาคาร การก่อสร้างและโทรคมนาคม สหภาพยุโรปกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ซื้อสินค้าจากจีนมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ยังเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปเป็นลำดับสองรองจากสหรัฐฯ

มีบางประเทศโจมตีจีนในเรื่องไม่เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา แต่ตอนนี้ก็เงียบไป เพราะจีนเป็นประเทศที่มีตัวเลขการจดสิทธิบัตรมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกไปเสียแล้ว และต่อไปในอนาคตอีกไม่นาน จีนก็จะกลายเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรมากเป็นลำดับหนึ่งของโลก นั่นหมายความว่า ต่อไปสินค้าที่ผลิตในจีนจะมีนวัตกรรม ไม่ใช่สินค้าลอกเลียนแบบอย่างแต่ก่อน ต่อไปในอนาคตสินค้าที่ทำในประเทศจีนจะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ดีมีคุณภาพดีที่สุดของโลก

ในยุคของสีจิ้นผิง มีการเพิ่มตัวอักษรจีน 4 คำว่า “แสดงบทบาทบ้าง” ลงต่อท้ายจากคำสอนของเติ้งเสี่ยวผิง เราจึงเห็นจีนแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุกเข้าไปในสหภาพยุโรปทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน และการเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่ง

ยุโรปและจีนต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

ไม่พกมีดเตรียมแทงกันด้านหลังเหมือนกับสหรัฐอเมริกาครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com