การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมาทำให้ผู้อ่านหลายท่านสนใจในรัฐธรรมนูญจีน ว่าเหมือนกับรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ที่แบ่งเป็นหมวดๆ เช่น หมวดบททั่วไป หมวดสิทธิและเสรีภาพ หมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวดหน้าที่ของรัฐ หมวดนโยบายแห่งรัฐ หมวดรัฐสภา หมวดคณะรัฐมนตรี ฯลฯ

ขอเรียนว่า รัฐธรรมนูญจีนก็มีบางอย่างเหมือนและไม่เหมือนกับไทยครับ ทั้งหลักว่าด้วยรัฐและอำนาจอธิปไตย หลักประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจและแนวนโยบายแห่งรัฐ สถาบันการเมือง ฯลฯ หลายคนสงสัยว่า จีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์แล้วจะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร เรื่องนี้จีนประกาศอยู่ตลอดเวลาว่า ตนเองนั้นปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ เป็นประชาธิปไตยประชาชน

จีนบอกว่า ประชาธิปไตยมีหลายอย่าง ถ้าเป็นแบบตะวันตก พรรคการเมืองหลายพรรคมีอำนาจอิสระเสรีในการต่อสู้กันในทางการเมืองเพื่อจะแข่งขันกันเข้าสู่อำนาจ แต่ประชาธิปไตยรวมศูนย์แบบจีน อยู่ภายใต้แนวความคิดที่ว่า นโยบายของรัฐบาลจะต้องมีที่มาจากประชาชนคนรากหญ้า จีนบอกว่า นโยบายของรัฐบาลสะท้อนความคิดความเห็นและความต้องการจากระดับล่างและส่งต่อมาสู่กลไกการปกครองในระดับบน

การสะท้อนความคิดเห็นของคนระดับล่าง สะท้อนไปที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ สภานี้นี่ล่ะครับ เป็นองค์กรตัวแทนประชาชนที่มีอำนาจปกครองสูงสุด สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเป็นตัวแทนประชาชนที่สรุปรวบรวมความต้องการทั้งหลายทั้งปวงของประชาชนแล้วมากำหนดเป็นนโยบายของประเทศ

รัฐบาลนำความต้องการของประชาชนมาทำเป็นนโยบายที่ใช้ในการปกครอง จากนั้นก็ส่งไปยังองค์กรระดับล่างที่ทุกคนจะต้องทำตาม ในประเทศตะวันตก ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจเท่ากัน ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

...

แต่ของจีนไม่ใช่ ของจีนถือว่าอำนาจสูงสุดของประเทศคือ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ดังนั้น บริหาร ตุลาการ และอัยการ ต้องเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ต้องทำงานโดยรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัตินี่ล่ะครับ เป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง

ขณะที่เรามองว่าจีนเป็นเผด็จการ จีนก็มองว่าประเทศอื่นเป็นเผด็จการ เพราะตนเองเน้นหลักการกระจายอำนาจ ให้อิสระแก่ท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายและการบริหารงาน ในแต่ละท้องถิ่นของจีนมีตัวแทนของประชาชนก็คือ สภาผู้แทนประชาชนท้องถิ่น ควบคุมฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายอัยการ

หัวหน้าฝ่ายบริหารระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง นครและนายกเทศมนตรีของนครที่มีฐานะพิเศษเทียบเท่าอนุมณฑลจะถูกส่งมาจากรัฐบาลกลาง แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนประชาชนท้องถิ่น

ในหลายประเทศ รัฐบาลกลางส่งผู้ว่าฯมาปกครองจังหวัดโดยที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาของท้องถิ่น อย่างนี้ก็ถือว่ามีการกระจายอำนาจน้อยกว่าจีนนะครับ

รัฐบาลกลางของจีนไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่เราเข้าใจกัน มีหลายครั้งที่รัฐบาลกลางเสนอคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ แต่สภาผู้แทนประชาชนของมณฑลไม่เอา รัฐบาลกลางก็ทำอะไรไม่ได้ แต่งตั้งคนที่ตนเองส่งมาเป็นผู้ว่าฯไม่ได้

หลายท่านสงสัยว่า การเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนในระดับต่างๆ ใครเป็นคนเลือก ขอเรียนว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมจากสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนในระดับหน่วยการปกครองที่รองลงไป ยกเว้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับเขต พวกนี้ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ (ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2525)

จีนมีชนกลุ่มน้อยมากถึง 55 กลุ่มชนชาติ หลักประชาธิปไตยของจีนจึงยึดหลักความเสมอภาคระหว่างชนชาติด้วย ชนชาติต่างๆ จึงมีตัวแทนของตนเองในสถาบันการปกครอง 2 แบบ ทั้งแบบที่เป็นตัวแทนของชนชาติ และแบบที่เป็นตัวเองของพื้นที่

ระหว่าง พ.ศ. 2509-2519 จีนเคยโกลาหลอลหม่านจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ในช่วงนี้ รัฐไม่สามารถควบคุมมวลชนที่ไม่ยอมยึดถือกฎหมายได้ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งอ้างว่าตัวเองยึดตัวบุคคล และยึดอุดมการณ์ บ้านเมืองจึงไม่ราบรื่น

เมื่อจีนมีรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2525 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมอย่างสูงสุด ผู้นำจีนในสมัยนั้นยอมทุกอย่างเพื่อให้จีนเปลี่ยนจากการบูชาตัวบุคคลและอุดมการณ์ไปยึดกฎหมาย ดังนั้น ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2525 จึงมีข้อความที่ว่า

“...รัฐจะรักษาไว้ซึ่งระบอบสังคมนิยมและการปกครองโดยกฎหมายที่มีเอกภาพและเคร่งครัด”

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com