มีผลวิจัยมากกว่า 40 ชิ้นก่อนหน้านี้เผยว่าน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างสะอาดอาจเป็นที่อยู่ของเหล่าจุลินทรีย์ ทำให้ร่างกายคนเราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น อาการปวดท้อง ท้องร่วง หูติดเชื้อ ซึ่งนักวิจัยมองอัตราการเจ็บป่วยในหมู่ผู้นิยมเที่ยวทะเลไม่ว่าจะมาอาบแดดหรือเล่นน้ำ พบว่าผู้ที่สัมผัสกับน้ำทะเลมีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่า 86% และมีอาการปวดหูมากกว่า 2 เท่า

นักวิจัยจากศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป และวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซ็กเตอร์ ในอังกฤษ เผยว่า การลงเล่นน้ำในทะเลอาจมีความเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยหลากหลาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เกิดอาเจียนและท้องร่วง ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีการวิเคราะห์อัตราความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวตามชายหาดจำนวน 84,411 ราย พบว่าเด็กอายุแรกเกิดถึง 4 ขวบมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารสูงกว่าผู้ใหญ่ โดยมาจากการสัมผัส เพราะเด็กๆ ขาดระบบภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ อีกอย่างพวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอยู่ในน้ำนานทำให้มีโอกาสกลืนกินน้ำทะเลได้มากกว่าผู้ใหญ่

ข้อแนะนำจากนักวิจัยก็คือนักว่ายน้ำทุกคนควรหลีกเลี่ยงเล่นน้ำทะเลในช่วง 3 วันนับจากเกิดพายุฝนตกหนัก เนื่องจากคุณภาพของน้ำทะเลมีแนวโน้มลดลงและความเสี่ยงในการเจ็บป่วยอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรพึงระวัง.