Credit : CC0 Public Domain

เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้เตือนถึงภัยคุกคามจากไมโครพลาสติก (microplastics) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว และอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เจ้าพลาสติกเหล่านี้ถูกใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของใช้ประจำวันหลายอย่าง เช่น ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน โดยต่อมาค้นพบว่ามันปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำจนเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะวัตถุขนาดนาโนเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในสัตว์ที่อาศัยอยู่ทางทะเล

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์ได้รายงานลงในวารสารวิทยาศาสตร์ทางทะเลแนวใหม่ (Frontier in Marine Science) ว่าปริมาณของไมโครพลาสติกกำลังก่อมลพิษในมหาสมุทรทั่วโลก โดยอธิบายว่าสัตว์น้ำที่อาศัยในโซนเมโสเพลาจิก (Mesopelagic) คือบริเวณน้ำลึกระดับ 200-1,000 เมตร ซึ่งมีทั้งปลาทูน่า นาก โลมา แมวน้ำ และนกทะเล พวกมันจะลอยตัวขึ้นไปที่ผิวน้ำในเวลากลางคืนเพื่อกินอาหาร จากนั้นก็จะกลับลงสู่น้ำลึกในช่วงระหว่างวัน การเคลื่อนไหวลักษณะนี้เป็นกระบวนการหมุนเวียนทางชีวภาพ ซึ่งหมายความว่าสัตว์เหล่านี้สามารถนำไมโครพลาสติกจากผิวน้ำลงไปที่น้ำลึกได้ด้วย ก่อให้เกิดการแพร่กระจายมลพิษจากไมโครพลาสติกไปทั่วระบบนิเวศทางทะเลจนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลลึก

ทั้งนี้ นักวิจัยตรวจสอบครั้งล่าสุดพบว่า ปลาเกือบ 3 ใน 4 ชนิดที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในกระเพาะอาหารของมัน และเป็นหนึ่งในระดับที่สูงสุดของโลก ทำให้มนุษย์ที่บริโภคปลามีความเสี่ยงที่จะได้รับพลาสติกเม็ดจิ๋วอันตรายเข้าไปในร่างกายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกำลังศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบถึงวิธีที่ปลาเหล่านี้กินและแพร่กระจายมลพิษไมโครพลาสติก ว่าพวกมันกินเหยื่อซึ่งเหยื่อเหล่านั้นกินไมโครพลาสติกมาอีกทีหรือไม่.

...