รองโฆษก ตร. เผยตัวเลขคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั่วประเทศ ตั้งแต่เริ่มชุมนุม กรกฎาคม 2563 เอาผิดแล้ว 514 คดี ขณะที่ “รองต๊ะ” บช.น. เตือน “คาร์ม็อบ” สร้างความเดือดร้อน มีความผิด
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบ ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลขอนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชน โดยเฉพาะการเตือนผู้ชุมนุมที่มีการชุมนุมในหลายๆ ครั้งว่า การกระทำของท่านในขณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีและได้รับโทษตามกฎหมาย สำหรับการชุมนุมในวันนี้มีการนัดหมายในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ มีจำนวน 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้นัดหมายบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 10.30 น. 2.กลุ่มนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นัดหมายรวมตัวบริเวณแยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. จากนั้นจะเคลื่อนตัวไปที่ถนนวิภาวดีรังสิต 3.กลุ่มคาร์ม็อบนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นัดหมายถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. 4.กลุ่มไทยไม่ทน ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ นัดหมายหน้าปั๊ม ปตท. เลียบด่วนรามอินทรา จากนั้นจะเดินทางไปสมทบกับกลุ่มคาร์ม็อบของนายสมบัติ และ 5.กลุ่มเครือข่ายนนทบุรีทำกิจกรรมคาร์ม็อบ นัดหมายที่รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพระนั่งเกล้า บริเวณเซ็นทรัลเวสต์เกต จากนั้นจะเดินทางไปที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ ศูนย์ราชการ ก่อนรวมกลุ่มคาร์ม็อบของนายสมบัติที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต
...
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บช.น. ขอเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ว่าในขณะนี้พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การชุมนุม การรวมตัวหรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค นอกจากนี้การชุมนุมในลักษณะคาร์ม็อบ โดยมีการใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ขับไปในพื้นที่ต่างๆ โดยมีการบีบแตร ส่งเสียง อาจจะกีดขวางการจราจร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จะเป็นความผิดตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งด้วย
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า การชุมนุมในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ที่มีการรวมตัวกันใน 4 สถานที่หลัก ก่อนจะมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนตัวไปที่บริเวณแยกราชประสงค์ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กระทั่งเวลา 18.24 น. ได้มีการประกาศยุติการรวมตัวกัน ทาง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้สถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สน.มีนบุรี สน.สำราญราษฎร์ สน.ลุมพินี สน.พญาไท ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน และให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดทั้งหมดทุกราย ซึ่งขณะนี้สามารถพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดได้กว่า 30 รายที่อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดี
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีในห้วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการชุมนุมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ดำเนินคดีทั้งสิ้น 279 คดี ได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 194 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 85 คดี ทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยืนยันว่าทุกความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อมีการกระทำผิดมีการเริ่มนับหนึ่งแล้ว กระบวนการสอบสวนจะต้องดำเนินการต่อไปจนกระทั่งคดีถึงที่สุด ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงอยากเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ การชุมนุม การรวมตัว หรือการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเป็นความผิดตามกฎหมาย
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีตัวเลขในภาพรวมทั่วประเทศ มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงไปแล้ว 514 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 279 คดี และอยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการอื่นๆ อีก 235 คดี ซึ่งสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วส่งไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งพนักงานอัยการ และเปรียบเทียบปรับในชั้นพนักงานสอบสวน รวมทั้งสิ้น 301 คดี ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 213 คดี
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนทุกสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง ทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. ดูแลงานสอบสวน ลงไปกำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการชุมนุมด้วยตัวเอง มีการเร่งรัดโดยมีนโยบายว่าทุกคดี ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีทุกคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ทราบดำเนินคดี รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ที่มีเงื่อนไขที่ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาล หากมีการกระทำผิด ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้รับการประกันตัว จะให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในหลายกรณี.