- ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ตั้งจุดตรวจ-เป่าแอลกอฮอล์ทั่วกรุงเทพฯ
- เป้าหมาย ต้องโปร่งใส ป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน
- จะออกใบสั่งต้องไม่กลั่นแกล้ง หรือพยายามหาเหตุในการออกใบสั่ง กรณีความผิดที่ยังไม่ปรากฏชัดเจน
วันก่อน "บิ๊กปั๊ด" พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ลงนามหนังสือเรื่องมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจ เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร
โดยสั่งการทุกสถานีตำรวจนครบาล เตรียมเริ่มกำหนดแผนจัดทำแนวทางการปฏิบัติ วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
เป้าหมาย เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจราจรให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่กระทบสิทธิกับประชาชนเกินสมควร สร้างความเชื่อมั่น และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการบังคับใช้กฎหมาย จึงกำหนดมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจ
...
โดยกำหนดแผนการตั้งจุดตรวจให้พิจารณาเพิ่มเติม ว่า การตั้งจุดตรวจแต่ละประเภท ต้องจัดทำแผนการตั้งจุดตรวจที่ชัดเจน ให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งจุดตรวจ ช่วงเวลาปฏิบัติ กำลังพล หัวหน้าจุดตรวจ และผู้ควบคุมการปฏิบัติ โดยการออกแผนการตั้งจุดตรวจทุก 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน
กำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจทุกประเภท ควรพิจารณาจากบริเวณที่มีปัจจัยเสี่ยงในการ เกิดอุบัติเหตุ หรือมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือเป็นบริเวณที่มีการฝ้าฝืนกฎหมายของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ต้องคำนึงถึงสภาพการจราจร วัตถุประสงค์ของจุดตรวจ และความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นสำคัญ โดยจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผย เพื่อป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน
ให้ รอง ผบช.น. ที่รับผิดชอบงานจราจรเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลในภาพรวม เพื่อให้การตั้งจุดตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีให้เกิดความช้ำช้อน อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร กรณีมีเหตุจำเป็นต้องปรับย้ายสถานที่ตั้งจุดตรวจให้ หน.สภ./สน. หรือหน่วยปฏิบัติจัดทำแผนการตั้งจุดตรวจเสนอ ผบก.เพื่ออนุมัติ โดยให้บันทึกเหตุผลความจำเป็นไว้ในระบบให้เรียบร้อย
แนวทางการปฏิบัติ
1.ก่อนการตั้งจุดตรวจให้หัวหน้าจุดตรวจแจ้งข้อมูลให้ศูนย์วิทยุระดับ สน./สภ. บก./ภ.จว. ทราบทุกครั้ง โดยให้ปรากฏยศ ชื่อ สกุล ตำแหน่งของหัวหน้าจุดตรวจ จำนวนเจ้าหน้าที่ สถานที่ตั้งจุดตรวจ ห้วงเวลาในการตั้งจุดตรวจ เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติให้แจ้งผลการปฏิบัติให้ศูนย์วิทยุข้างต้นทราบทันที และให้บันทึกผลการปฏิบัติลงในระบบแอปพลิเคชัน TPCC (Tralic Police Checkpoint Control) แล้วให้รายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอหัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานภายในวันถัดไป โดยการรายงานต้องมีข้อมูลผลการจับกุม จำนวนรถที่เรียกตรวจ ปัญหาหรือเหตุขัดข้องในการปฏิบัติ
2.จุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายจราจรประเภทป้าย “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จุดตรวจจะต้องมีในการติดตั้งป่ายและเครื่องหมายจราจร สำหรับในเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นป้าย “หยุดตรวจ” ได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร และให้มีแผ่นป้ายแสดง ยศ ชื่อ สกุล และตำแหน่งของหัวหน้าจุดตรวจดังกล่าว นอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ (ผบก.) (หมายเลชโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บังคับการหรือที่ผู้บังคับการมอบหมาย) หรือแจ้งร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ทางสายด่วนหมายเลข 1599″ ทั้งนี้ ป้ายแสดงข้อความดังกล่าวต้องแสดงให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
3.การปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดตรวจต้องมีนายตำรวจระดับสัญญาบัตรยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นหัวหน้าจุดตรวจและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องแต่งเครื่องแบบทุกนาย และให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติและยุทธวีธีในการตั้งจุดตรวจ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
4.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดตรวจต้องใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ มีการกล่าวคำทักทายและคำขอบคุณหากจำเป็นให้อธิบายอำนาจหน้าที่ วิธีการและขั้นตอนตามหลักกฎหมาย หากผู้ขับขี่หรือบุคคลใดก่อความวุ่นวาย หรือไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่จะต้องควบคุมอารมณ์และยึดถือการปฏิบัติในกรอบของกฎหมาย
5.ให้เจ้าพนักงานจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวชนิดติดตัว หรือติดหมวกนิรภัยของเจ้าพนักงานจราจร หรือกล้องชนิดอื่นที่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา โดยต้องบันทึกภาพการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อมีการร้องเรียนตลอดจนเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ให้หัวหน้าจุดตรวจเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้ว ให้หัวหน้าจุดตรวจรวบรวมไฟล์ข้อมูลดังกล่าวเก็บไว้ในฐานข้อมูลของหน่วยงานของตนตามที่หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานกำหนด
...
6.การตั้งจุดตรวจ หากมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครร่วมปฏิบัติงาน ให้หัวหน้าจุดตรวจชี้แจงผู้ร่วมปฏิบัติให้เข้าใจในอำนาจหน้าที่ การแต่งกายของอาสาสมัครต่างๆ ต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกฝ่ายที่ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดและไม่แต่งกายคล้ายกับเครื่องแบบของตำรวจโดยเด็ดขาด
จะออกใบสั่งต้องไม่กลั่นแกล้ง พยายามหาเหตุทั้งที่ความผิดที่ยังไม่ปรากฏชัดเจน
-การออกใบสั่งตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทางให้ถือปฏิบัติตามมาตรา 140 แห่ง พร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ก่อนการออกใบสั่งทุกครั้งต้องอธิบายข้อกล่าวหา ข้อหา และฐานความผิดให้ผู้ชับขี่หรือผู้กระทำผิดทราบ และเข้าใจข้อกล่าวหาที่ถูกออกใบสั่งทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยไม่กลั่นแกล้งหรือพยายามหาเหตุในการออกใบสั่งกรณีความผิดที่ยังไม่ปรากฏชัดเจน
...
-ให้ผู้ออกใบสั่งหรือผู้ได้รับมอบหมาย บันทึกข้อมูลในระบบบริหารจัดการใบสั่งจราจรของ ตร. (PTM : Police Ticket Management) ภายใน 6 วัน นับแต่วันออกใบสั่ง
"เป่าเมา" ต้องใช้เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ของทางราชการ
กำหนดรูปแบบพื้นที่ปฏิบัติ ชุดปฏิบัติการ และวัสดุอุปกรณ์ในการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ เป็นสถานที่เปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใส และป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน จัดสถานที่สำหรับตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบยืนยันผลในจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอ ให้มีการตรวจเบื้องตันและการตรวจยืนยันผล สำหรับการตรวจยืนยันผล ต้องมีการบันทึกการตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวชนิดที่สามารถดูภาพได้แบบปัจจุบัน (Real Time) หรืออุปกรณ์บันทึกภาพเคลื่อนไหวใช้คู่กับอุปกรณ์ที่สามารถถ่ายทอดสดการตรวจวัด เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถดูการตรวจวัดได้แบบปัจจุบัน (Real Time)
สำหรับเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องใช้เครื่องของทางราชการ และต้องมีการสอบเทียบตามกำหนดระยะเวลาของอุปกรณ์นั้น จากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ห้ามมิให้นำเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่ยังไม่ได้ผ่านการสอบเทียบ หรือเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่ของทางราชการมาใช้ในการปฏิบัติงานโดยเด็ดขาด
โดยบันทึกข้อมูลผู้ขับขี่และผลตรวจวัดแอลกอฮอล์ลงในระบบ TPCC (Trafic Police Checkpoint Control) กรณีผู้ชับชี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้พิมพ์เอกสารรายการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากระบบดังกล่าวให้ผู้ขับขี่ สำหรับใช้แสดงในจุดตรวจต่อไป แต่ในกรณีที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
คนเป็นนาย ต้องดูแลลูกน้องสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบการปฏิบัติในการตั้งจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มิให้ฉวยโอกาส เรียก รับ หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากผู้ใช้รถใช้ถนน
...
หากตรวจสอบพบว่าจุดตรวจใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว จะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชา ผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทันที ร่วมทั้งให้ตรวจสอบและกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด และหากตรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดประพฤติมิชอบในลักษณะดังกล่าว ให้รีบพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทั้งทางอาญาและทางวินัยทันที แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ตร. ทราบโดยมิชักช้า
ท้ายที่สุดนี้...คงต้องมารอดูกันว่าองค์กรตำรวจจะสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้หรือไม่ ในยุคแม่ทัพใหญ่กรมปทุมวันที่ชื่อ" สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข"
เรียบเรียง : gravity_ki
กราฟิก : Sathit Chuephanngam
ที่มาข้อมูล : ทีมงานโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ