ตัวแทนพ่อค้าลอตเตอรี่ ร้อง ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ หลังถูกยี่ปั๊วจากร้อยเอ็ดหลอกลงทุนซื้อสลากกินแบ่งช่วงโควิดแล้วเชิดเงินหนี สูญเสียรวมกว่า 400 ล้านบาท เพราะเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 พ.ย. บริเวณหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ทนายความ พร้อม นายสามิตร สิ่วสงวน และ ตัวแทนผู้เสียหายกว่า 10 ราย เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอความเป็นธรรมจากการถูกหลอกลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ โดยให้ดีเอสไอติดตามทรัพย์ให้ผู้เสียหายจำนวนกว่า 100 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท พร้อมขอให้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ
นายสามิตร กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายได้ถูกผู้ต้องหาซึ่งเป็นชาว จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาตีสนิท และชักชวนให้ร่วมทุนด้วยการนำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย และหากขายได้ทั้งหมดก็จะแบ่งเงินให้กับผู้ร่วมลงทุน ตนเห็นว่ามีคนรู้จักร่วมทุนกับผู้ต้องหารายนี้มานานกว่า 2 ปี และมีรายได้จริง ตนจึงตัดสินใจลงทุนกับผู้ต้องหาเมื่อเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมา และยังซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับผู้ต้องหาไปขายให้กับกลุ่มเครือญาติในราคาต้นทุนฉบับละ 80 บาท หรือราคากล่องละ 35,000-45,000 บาท (กล่องหนึ่ง มี 5 เล่ม 1 เล่ม มี 100 ฉบับ 1 กล่องเท่ากับ 500 ฉบับ)
หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหาย กล่าวในช่วง 4-5 งวดแรก ได้รับเงินจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ต.ค. และ วันที่ 1 พ.ย.63 ได้มีผู้ฝากซื้อลอตเตอรี่ โดยลงทุนไปอีกรวมเป็นเงินจำนวน 25 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่สามารถจัดหาลอตเตอรี่มาให้ได้ ทั้งๆ ที่รับเงินไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้อีก กลุ่มผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความที่ สภ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ขณะเดียวกันตนก็ถูกผู้เสียหายที่ฝากซื้อลอตเตอรี่แจ้งจับในข้อหาฉ้อโกงด้วยเช่นเดียวกัน
...
ด้าน นายอานนท์ กล่าวว่า หลังจากผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนบุรี ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 8 ราย เหลืออีก 2 ราย คือ นายทศพร จิตรแม้น และ นายยุทธนา ทองคำ ที่ยังตามจับตัวไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนยังอยู่ในพื้นที่ไม่ได้หลบหนีไปไหน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ตามยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาได้ เป็นเงินสดพร้อมสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่าเป็นของปลอม จึงรู้สึกไม่สบายใจ และเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ต้องหามีอิทธิพล อีกทั้งยังได้ทรัพย์สินที่หลอกลวงประชาชนไปจำนวนมาก จึงต้องร้องขอให้ดีเอสไอเข้ามาช่วยทำคดี และรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ
ส่วน พ.ต.อ.อัครพล กล่าวว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และตั้งเรื่องเป็นเลขสืบสวนคดี โดยจะส่งพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีวงเงินสูง การหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นการซ้ำเติมทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง.