โควิดระบาดรอบใหม่สาหัส “สุพัฒนพงษ์” ยอมรับโดยดุษฎี เศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ถึง 4% ระบุจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นคุมการระบาด ยืนยันสมุทรสาครโมเดลเอาอยู่ ไม่ต้อง “ล็อกดาวน์ประเทศ” ขณะที่คลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียน คาดมาตรการใหม่ออกใช้ ก.ค.นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวยอมรับว่า การระบาดโควิดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ให้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ขยายตัว 4% จากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จะต้องกัดฟันสู้ พยายามหาโอกาส แม้จะเป็นรูที่เล็กแต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อทุกคนในประเทศ ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังคงเดินหน้าต่อและยังคงมีโครงการดีๆรออยู่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนไทยทุกคน การส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่รัฐบาลต้องกลับไปดูการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศว่าจะกระตุ้นอย่างไร เช่น การนำเงินฝากของประชาชนเมื่อปีที่แล้วให้ออกมาจับจ่าย
ส่วนแผนการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จ.ภูเก็ต โดยไม่ถูกกักตัวและเดินทางได้ทั่วจังหวัด หรือภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะส่งผลกระทบหรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์รายวัน แต่แผนไม่ได้หยุด ทุกคนยังเดินหน้าทำงานเช่นเดิม โดยเฉพาะการปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดนักลงทุนที่จะต้องทำ เพราะการระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก และเท่าที่ทราบภาคธุรกิจกังวลเรื่องของความมั่นใจในการควบคุมทั้งสถิติผู้ติดเชื้อ และผู้หายจากการติดเชื้อซึ่งจะเป็นจุดตัดสินใจของภาคธุรกิจว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งการเดินหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะทำงานอย่างเต็มที่ทั้ง 2 ทาง และขณะนี้ได้มีพระราชกำหนดออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจในการชำระหนี้แล้ว โดยมาถูกเวลา แต่ถ้าหากช้ากว่านี้ก็จะไม่เหมาะสม
“วันนี้ต้องเน้นสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องดูแลควบคุมการระบาดไม่ให้ประชาชนกังวล แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพราะทุกคนปรับตัว และมีตัวอย่างผู้ติดเชื้อที่สมุทรสาครมาก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลได้ดูแล และบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ในขณะนี้ทุกคนต่างตระหนักรู้ เมื่อมีความกังวลว่าติดเชื้อก็เข้าสู่การตรวจหาเชื้อ ทำให้พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติการเชิงรุกของตนเองรับผิดชอบต่อสังคม โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสั่ง ส่วนตัวมองเป็นเรื่องที่ดี เมื่อพบเชื้อก็เข้าสู่การรักษา ซึ่งระบบการรักษาของไทยมีเพียงพออยู่แล้ว”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ประเทศเช่นปีที่แล้ว เพราะประสบการณ์จากจังหวัดสมุทรสาครที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่ก็สามารถบริหารจัดการผ่านมาได้ แต่ข้อสำคัญคือทุกคนต้องเว้นระยะห่าง รักมากยิ่งต้องห่างมาก และยิ่งต้องตรวจเชื้อตามกำหนดเวลา
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือน เม.ย.2564 นี้ ทำให้ สศค.ต้องติดตามสถานการณ์อย่าง ใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมถึงการออกมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 64 คลังได้ปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อยู่ที่ 2.8% เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์เดือน เม.ย.64 แตกต่างจากเดือน ม.ค.อย่างสิ้นเชิง จากเดิมคาดว่าเงินจะสะพัดมากในช่วงสงกรานต์
“เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ สศค.ต้องประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วย เนื่องจากขณะนี้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ได้สิ้นสุดไปแล้ว เหลือเพียงโครงการเราชนะ และเรารักกัน ที่สามารถใช้เงินได้ถึง 31 พ.ค.นี้ ดังนั้น หากต้องการความต่อเนื่อง สศค.ก็ต้องเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในเร็วๆนี้”
ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนเพิ่มเติม คาดว่าจะออกมาตรการภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ส่วนเงินที่จะนำมาใช้เพื่อเยียวยาประชาชนนั้น ขณะนี้ ยังมีเงินเหลือเกือบ 380,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 7.6 แสนล้านบาท เหลือใช้อีก 2.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินจากงบกลางปี 64 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็น 99,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งเบิกใช้ไปเพียง 500 ล้านบาท และงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 3,200 ล้านบาท แต่การใช้วงเงินดังกล่าว ต้องมีโครงการเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อน สศค.จะนำเสนอแนวทางและการดำเนินมาตรการต่อกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อให้วงเงินดังกล่าวหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 หรือช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป.