นายกสมาคมสปาไทย เผยคนในธุรกิจสปาตกงานแล้ว 240,000 คน หวั่นธุรกิจนี้สูญหายไปจากประเทศไทย กระทบภาพลักษณ์ท่องเที่ยว เผยลมหายใจของผู้ประกอบการรวยริน อ่อนแรงมากแต่รัฐกลับไม่ช่วยปั๊มหัวใจให้เลย ร้องรัฐร่วมจ่ายเงินเดือนคนที่ยังอยู่ในระบบสปาและโรงแรม 400,000 คน 50% ของเพดานสูงสุด 15,000 บาท เป็นเวลา 6–12 เดือน
นายกรด โรจนเสถียร ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท และนายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจดูแลสุขภาพและร้านนวดสปาของไทยซึ่งมีกว่า 8,000 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปาที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพกว่า 300,000 คน ตกงานไปแล้ว 80% หรือราว 240,000 คน เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนร้านนวดสปาเปิดให้บริการเพียง 20% ของทั้งหมด ลมหายใจของผู้ประกอบการสปาตอนนี้รวยริน อ่อนแรงมาก แต่รัฐกลับไม่เข้ามาช่วยปั๊มหัวใจให้เลย และกังวลมากว่าธุรกิจสปาอาจสูญหายไปจากประเทศไทย อีกทั้งมีกลุ่มทุนจากจีนหลายรายที่แสวงหาช่องทางเข้ามาซื้อกิจการของไทยที่ประสบปัญหาด้านรายได้ หรือมีสายป่านทางธุรกิจที่ไม่ยาวพอ ซึ่งตอนนี้ได้พบว่าสปาในจีนหลายแห่งฝึกคนจีนให้นวดบริการแบบไทย และทุนจีนยังเล็งซื้อธุรกิจอื่นๆในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในไทยที่ประสบปัญหาอย่างหนักด้วย
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจบริการสุขภาพและสปาจะกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยไปด้วย เพราะเหตุผลหลักของการมาเที่ยวไทยของชาวต่างชาติซึ่งนิยมทำสปาติด 1 ใน 5 อันดับแรกของกิจกรรมท่องเที่ยวและบริการ แต่รัฐกลับไม่เหลียวแล เห็นได้จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและการจับจ่ายอย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กับ คนละครึ่ง ธุรกิจสปาไม่เคยได้รับอานิสงส์เลย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือด้วยการร่วมจ่าย (โค-เพย์เมนต์) เงินเดือนพนักงาน 50% ของเพดานสูงสุด 15,000 บาท หรืออยู่ที่คนละ 7,500 บาท แก่พนักงานในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและสปา 400,000 คน นาน 6-12 เดือน เหมือนกับที่สมาคมโรงแรมไทยได้เสนอให้รัฐพิจารณาก่อนหน้านี้”
นอกจากนั้น พบว่าแม้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.จะคลายล็อกให้ธุรกิจสปาและนวดแผนไทยเปิดให้บริการได้แล้วหลังถูกสั่งปิดชั่วคราว แต่ฐานลูกค้าของร้านนวดสปาส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ การดึงผู้มาใช้บริการจึงไม่เพียงพอ และธุรกิจที่ให้บริการออนเซ็นไฮโดรเจน–คาร์บอเนต หรือออนเซ็นเทียม ที่ลงทุนสร้างขึ้นในไทยวงเงินลงทุนแห่งละ 400-600 ล้านบาท ตอนนี้มีกว่า 10 แห่งในกรุงเทพฯและชลบุรี ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากรัฐบาลมองว่าออนเซ็นต้องใช้อ่างในการให้บริการ ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานประกอบการอาบอบนวดที่มีอ่างเหมือนกัน แต่ยังไม่มีคำสั่งให้กลับมาเปิดบริการ จึงอยากให้รัฐช่วยทบทวนคลายล็อกให้ด้วย
ส่วนสถานการณ์ของชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักหลังลงทุน 900 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงรีสอร์ตแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.62 พอขึ้นต้นปี 63 ก็เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้แทบไม่มีรายได้เข้ามา ตอนนี้ต้องปรับตัวด้วยการดึงนักท่องเที่ยวในประเทศ มีการปรับราคาห้องพักจากคืนละ 60,000 บาท ลงมาอยู่ที่ 10,000 บาทต้นๆ และจัดทำแพ็กเกจดูแลสุขภาพแบบลูกค้าไม่ต้องพักค้างคืน เปิดห้องอาหารให้ลูกค้าที่ไม่ได้เข้าพักเข้ามาทานอาหารได้ โดยอัตราเข้าพักเดือน ม.ค.64 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 10% เท่านั้น ส่วนปี 63 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 20% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 70% ก่อนเจอโควิด-19.